นโยบายและแนวปฏิบัติต่อต้านการให้สินบนและคอร์รัปชั่น (Anti-Bribery and Corruption
Policy and Procedure)

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด มีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจ โดยยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัทได้ประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมในโครงการ “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต” เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ และให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/5

บริษัทได้กำหนด “นโยบายและแนวปฏิบัติต่อต้านการให้สินบนและคอร์รัปชั่น” ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสม เพื่อต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ (Zero Tolerance on any form of corruption) การรับหรือให้สินบน และการคอร์รัปชั่น บริษัทไม่ยอมรับการคอร์รัปชั่นใด ๆ ทั้งสิ้น โดยครอบคลุมถึงธุรกิจและรายการทั้งหมดและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศไทยในการต่อต้านการให้สินบนและคอร์รัปชั่น

คอร์รัปชั่น (Corruption) หมายถึง การกระทำโดยมิชอบ โดยการนำเสนอ การให้คำมั่นสัญญา การยอมรับ การเรียกร้อง การจ่ายหรือสัญญาว่าจะจ่ายประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด ๆ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม รวมถึงการรับหรือให้สินบน แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกระทำที่ต้องการจูงใจนั้น และการคอร์รัปชั่นระหว่างหน่วยงานเอกชนด้วย เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งธุรกิจ หรือความได้เปรียบที่ไม่เป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ

สินบน (Bribery) หมายถึง ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่เสนอว่าจะให้ สัญญาว่าจะให้ การยอมรับ การให้หรือร้องขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นกระทำการหรือละเว้นไม่กระทำการเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งมิชอบด้วยกฎหมายหรือหน้าที่รับผิดชอบ

ทรัพย์สิน หมายถึง ทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ เช่น เงิน บ้าน รถ

ประโยชน์อื่นใด หมายถึง สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด เช่น การให้ของขวัญหรือบริการ การพาไปท่องเที่ยว การรับสมัครเข้าทำงาน การปลดหนี้ให้

การช่วยเหลือทางการเมือง หมายถึง การช่วยเหลือด้านการเงินหรือรูปแบบอื่นใด เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง เช่น การให้สิ่งของ หรือบริการ การโฆษณาส่งเสริมสนับสนุนพรรคการเมือง การเปิดโอกาสให้พนักงานลาหยุด หรือเป็นตัวแทนบริษัทเพื่อร่วมดำเนินการเกี่ยวกับการรณรงค์ทางการเมือง เป็นต้น

การบริจาคเพื่อการกุศล หมายถึง การใช้จ่ายเงิน หรือให้สิ่งของหรือบริการโดยไม่มีผลตอบแทนใด ๆ

ฝ่ายจัดการ หมายถึง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ และผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายงาน

มาตรา 123/5 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทำไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่า แต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ

บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึง ลูกจ้าง ตัวแทน บริษัทในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ในการนั้นหรือไม่ก็ตาม

2.1 คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติการต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชั่น และกำกับดูแลให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายจัดการตระหนักถึงความสำคัญและได้นำไปปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
2.2 คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่รับผิดชอบในการสอบทานให้บริษัทมีการควบคุมภายในอย่างเพียงพอต่อการต่อต้านการให้สินบนและการต่อต้านการคอร์รัปชั่น และสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชั่น และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท
2.3 ฝ่ายจัดการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดให้มีระบบ ส่งเสริม สนับสนุน และควบคุมดูแลให้พนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชั่น รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย
2.4 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางปฏิบัติการต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชั่น และระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยรับทราบถึงบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนด้วย
2.5 ฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานและบริหารความเสี่ยง มีหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบ และสอบทานการปฏิบัติให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ตามนโยบาย ระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

บริษัทกำหนดให้นโยบายฉบับนี้บังคับใช้กับบริษัท กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัททุกคน รวมถึง คู่ค้า ตัวแทน ตัวกลาง ที่ปรึกษา ที่กระทำการในนามของบริษัท โดยต้องไม่เรียกร้อง ดำเนินการ นำเสนอ การให้คำมั่นสัญญา การให้หรือรับสินบน หรือการกระทำพฤติกรรมที่ส่อไปในทางคอร์รัปชั่นในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อผลประโยชน์ต่อบริษัท ตนเอง ครอบครัว ญาติ เพื่อน คนรู้จัก โดยครอบคลุมถึงธุรกิจและรายการทั้งหมดและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชั่นอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนกระทำการใด ๆ อันเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือ หรือให้ความร่วมมือกับการคอร์รัปชั่นจะได้รับการพิจารณาโทษตามระเบียบของบริษัท

นโยบายและแนวปฏิบัติต่อต้านการให้สินบนและคอร์รัปชั่นครอบคลุมถึงเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

3.1 การให้และรับสินบน
ห้ามให้หรือรับสินบนในรูปแบบใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อตอบแทนการให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจ และห้ามมอบหมายให้ผู้อื่นให้หรือรับสินบนแทนตนเอง

3.2 การรับหรือมอบของขวัญ ของกำนัลและการเลี้ยงรับรอง
ไม่ให้รับหรือมอบของขวัญ ของกำนัลหรือการเลี้ยงรับรองจาก/ให้แก่ ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท อันอาจเป็นผลทำให้เกิดการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือจูงใจต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความลำเอียงหรือลำบากใจ ทั้งของตนเองและผู้อื่น เว้นแต่เป็นการกระทำในโอกาสพิเศษต่าง ๆ หรือตามประเพณีนิยม ทั้งนี้ ห้ามรับหรือมอบของขวัญ ของกำนัล หรือผลประโยชน์อื่นใด ที่เป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อบริษัท

แนวปฏิบัติการรับของขวัญ ของกำนัลหรือการเลี้ยงรับรอง ให้ปฏิบัติตาม “คู่มือการปฏิบัติงาน (Compliance Manual)” ของบริษัท

3.3 การช่วยเหลือทางการเมือง
บริษัทมีนโยบายไม่ช่วยเหลือทางการเมือง ไม่ฝักใฝ่ทางการเมืองหรือนักการเมือง และไม่สนับสนุนทางการเงินหรือสิ่งของให้แก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกทางการเมืองใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

แนวปฏิบัติ

  1. พนักงานสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองตามสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในฐานะพลเมืองดีตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยทรัพย์สินส่วนบุคคลเท่านั้น
  2. ห้ามแสดงตราสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายอื่นใดของบริษัท ที่แสดงให้รู้หรือเข้าใจได้ว่าหมายถึงบริษัท ในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองโดยเด็ดขาด

3.4 การบริจาคเพื่อการกุศล และเงินสนับสนุน
บริษัทมีนโยบายให้การบริจาคเพื่อการกุศล และเงินสนับสนุน เป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อศีลธรรม และไม่เป็นการกระทำที่มีผลเสียหายต่อสังคมส่วนรวม หรือไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการให้สินบนหรือคอร์รัปชั่น

แนวปฏิบัติ

  1. ให้มีการตรวจสอบผู้ขอรับบริจาค หรือเงินสนับสนุน
    • กรณีองค์กรเป็นผู้ขอรับบริจาคหรือเงินสนับสนุน ให้ตรวจสอบว่าเป็นองค์กรที่จัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม สาธารณะ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับบุคคลใดหรือหน่วยงานใด
    • กรณีบุคคล คณะบุคคล หรือชมรม เป็นผู้ขอรับบริจาคหรือเงินสนับสนุน จะต้องตรวจสอบรายชื่อบุคคล หรือผู้มีอำนาจบริหารสั่งการ ว่าไม่มีรายชื่อที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือก่อการร้าย
  2. ให้ผู้เสนอจัดทำแบบฟอร์ม “แบบขออนุมัติเงินบริจาค/เงินสนับสนุน” นำเสนอประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนดำเนินการบริจาคหรือให้เงินสนับสนุน
  3. การบริจาคหรือให้เงินสนับสนุนต้องดำเนินการในนามบริษัทเท่านั้น
  4. การดำเนินการจ่ายค่าบริจาคหรือเงินสนับสนุน ให้ดำเนินการตามขั้นตอน “ระเบียบการอนุมัติค่าใช้จ่าย” ส่วนการบริจาคที่เป็นทรัพย์สินของบริษัท เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โต๊ะทำงาน เก้าอี้ ฯลฯ ให้ปฏิบัติตามระเบียบของบริษัท “การตัดจำหน่ายและขายทรัพย์สินของบริษัท” และมีหลักฐานการส่งมอบให้สามารถตรวจสอบได้
  5. ให้มีการบันทึกข้อมูลทางบัญชีที่ถูกต้องตามความเป็นจริง

3.5 การจัดซื้อจัดจ้าง
การดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์ และปฏิบัติตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท และเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

แนวปฏิบัติ

  1. การจัดซื้อจัดจ้างให้ปฏิบัติตาม “ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง” ของบริษัท
  2. ให้ฝ่ายงานที่จัดซื้อจัดจ้างต้องแจ้งให้คู่ค้าหรือผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบว่า บริษัทมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชั่นที่ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
  3. ให้ผู้ตรวจสอบภายในตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างอย่างสม่ำเสมอ

3.6 การจ่ายเงินเพื่ออำนวยความสะดวก
บริษัทมีนโยบายห้ามจ่ายเงินเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการเร่งดำเนินการ หรือเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินการ ที่นอกเหนือจากการบริการโดยทั่วไป ยกเว้นการจ่ายเงินเพื่ออำนวยความสะดวก ตามระเบียบของผู้ให้บริการ ทั้งนี้ รวมถึงการห้ามให้/รับสินบน แก่/จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ/เอกชน โดยการเสนอให้เงิน บัตรกำนัล เช็ค หุ้น ของขวัญหรือของมีค่าอื่นใด ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ได้มาหรือคงไว้ซึ่งธุรกิจหรือข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน

แนวปฏิบัติ
กรณีผู้ให้บริการมีระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินเพื่ออำนวยความสะดวก ให้ดำเนินการได้เฉพาะกรณีมีความจำเป็น เร่งด่วน และต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินที่ถูกต้อง โดยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าว ให้เป็นไปตาม “ระเบียบการอนุมัติค่าใช้จ่าย” ของบริษัท3.7 การบริหารทรัพยากรบุคคล
การบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัท ได้แก่ การสรรหาบุคลากร การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม การปฐมนิเทศพนักงานใหม่ การประเมินผลการปฏิบัติงาน ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ให้ถือปฏิบัติดังนี้

  1. กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกคนต้องดำเนินการตามมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่โปร่งใส ปราศจากการให้สินบนและการคอร์รัปชั่น ทั้งนี้ จะไม่มีพนักงานรายใดที่จะถูกลดขั้น ถูกลงโทษ หรือได้รับผลกระทบในทางลบจากการปฏิเสธการจ่ายสินบน แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจไปก็ตาม
  2. กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติการต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชั่น คู่มือพนักงาน และจรรยาบรรณ ที่ได้ประกาศให้ทราบ โดยจะอ้างว่าไม่ทราบและไม่ถือปฏิบัติไม่ได้ โดยเฉพาะทราบถึงบทลงโทษสำหรับการฝ่าฝืน โดยอาจถูกตักเตือนหรือชดใช้ค่าเสียหาย ตลอดจนอาจถูกเลิกจ้างหรือพ้นสภาพการเป็นพนักงาน
  3. กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกคนต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉยเมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการให้สินบนและการคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ต้องแจ้งต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม
  4. กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกคนควรแจ้งถึงการต้องถือปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชั่น ให้บุคคลภายนอกที่ทำการติดต่อรับทราบ โดยเฉพาะนโยบายการไม่รับของขวัญ ของกำนัล หรือการเลี้ยงรับรอง

บริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นว่าการให้สินบนและการคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ทั้งการกระทำธุรกรรมกับภาครัฐและภาคเอกชน

เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายหรือสงสัยว่าจะมีการคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท รวมทั้งการรายงานข้อบกพร่องของมาตรการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการให้สินบน ให้พนักงานทุกคนแจ้งให้บริษัททราบ เพื่อปรับปรุงแก้ไขดำเนินการให้เกิดความถูกต้อง เหมาะสม โปร่งใสต่อไป โดยมีแนวปฏิบัติดังนี้

5.1 ช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือการร้องเรียน
เมื่อพนักงานพบเห็นการให้สินบน หรือการคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัททั้งโดยทางตรงและทางอ้อม หรือมีการกระทำที่ผิดขั้นตอนตามระเบียบปฏิบัติหรือการควบคุมภายในจนทำให้สงสัยได้ว่าอาจจะเป็นช่องทางในการคอร์รัปชั่น หรือเป็นการกระทำที่ทำให้บริษัทเสียผลประโยชน์หรือกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท หรือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและจรรยาบรรณทางธุรกิจ ให้แจ้งให้บริษัททราบผ่านช่องทางดังนี้

  • กล่องแสดงความคิดเห็น (ตั้งอยู่บริเวณห้องถ่ายเอกสาร)
  • จดหมาย ส่งถึงฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานและบริหารความเสี่ยง หรือกรรมการตรวจสอบ

5.2 การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน และการรักษาความลับ
บริษัทมีนโยบายที่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้แจ้งเบาะแส ผู้มีส่วนได้เสีย โดยเท่าเทียมกันตามกฎข้อบังคับของบริษัท อีกทั้งเรื่องที่ร้องเรียนและรายชื่อผู้ร้องเรียนจะถูกรักษาเป็นความลับ

5.3 การดำเนินการสืบสวนและบทลงโทษ

  • เมื่อได้รับข้อร้องเรียนหรือการแจ้งเบาะแส บริษัทจะมีการตรวจสอบตามกระบวนการทางวินัยของบริษัท
  • หากการสืบสวนหาข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีมูลหรือหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดจริง บริษัทจะให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาเพื่อพิสูจน์หรือแสดงหลักฐานว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวหรือไม่
  • หากผู้ถูกร้องเรียนได้กระทำความผิดจริง ไม่ว่าจะเป็นกรรมการบริษัท ผู้บริหาร พนักงาน บริษัทจะพิจารณาลงโทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัท และอาจมีการลงโทษขั้นรุนแรงคือการให้ออกจากงาน และหากการกระทำผิดนั้นเป็นความผิดทางกฎหมาย ผู้กระทำความผิดอาจต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ในกรณีที่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ที่มีการทำสัญญาว่าจ้าง หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้จะถูกยกเลิกสัญญาว่าจ้าง
  • ทั้งนี้ ให้รายงานประเด็นที่พบต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัทอย่างเร่งด่วน

5.4 การลงโทษกรณีแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนอันเป็นเท็จ
การแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน ให้ถ้อยคำหรือให้ข้อมูลใด ๆ ถ้าพิสูจน์ได้ว่ากระทำโดยไม่สุจริตและทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท บุคคลนั้นจะได้รับโทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัท และอาจพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

6.1 การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ในการประเมินความเสี่ยงให้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งจากภายในหรือแหล่งข้อมูลภายนอก ได้แก่ รายงานการตรวจสอบภายใน บัญชีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รายงานการแจ้งเบาะแสทั้งจากภายในองค์กรและภายนอกองค์กร

6.2 การระบุความเสี่ยง ให้ระบุความเสี่ยงการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินธุรกิจของบริษัททั้งหมด โดยไม่คำนึงว่ามีมาตรการป้องกันหรือแก้ไขความเสี่ยงนั้นอยู่แล้วหรือไม่ โดยระบุทั้งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยนั้น ๆ

  • ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง (Risk factor) หมายถึง สถานการณ์ สภาพแวดล้อม ทั้งภายนอกและภายในของบริษัทที่นำไปสู่ความเสี่ยงของการให้สินบน เช่น การเข้าร่วมเสนอราคาในการรับบริหารเงินให้กับหน่วยงานรัฐ นโยบายของบริษัทที่กำหนดให้พนักงานต้องทำยอดขายได้ตามเป้าหมาย เป็นต้น
  • ความเสี่ยงของการให้สินบน (Risk) หมายถึง เหตุการณ์หรือการกระทำที่เป็นความเสี่ยงในการให้สินบน เช่น การถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกให้จ่ายค่าอำนวยความสะดวก การให้ของขวัญและการรับรอง ตัวแทนของบริษัทอาจให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ได้เป็นคู่สัญญา เป็นต้น

6.3 การประเมินระดับความเสี่ยง เป็นการประเมินโอกาสที่อาจเกิดการกระทำหรือเหตุการณ์ที่เป็นความเสี่ยงของการให้สินบน และความร้ายแรงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการให้สินบนดังกล่าว

6.4 การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการควบคุมความเสี่ยงที่มีอยู่ และการประเมินความเสี่ยงที่คงเหลือ เมื่อมีการระบุและประเมินความเสี่ยงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัทแล้ว จะพิจารณาถึงมาตรการที่มีอยู่แล้วซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในกิจกรรมนั้น ๆ

6.5 จัดทำมาตรการป้องกันความเสี่ยงและการรายงานผล พิจารณามาตรการป้องกันความเสี่ยง และรายงานผลให้คณะกรรมการบริษัททราบ

7.1 การสื่อสารต่อบุคคลภายนอก
ให้ฝ่ายจัดการดูแลให้มีการสื่อสารเกี่ยวกับการต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชั่นให้กับบุคคลภายนอกรับทราบ ดังนี้

  1. เปิดเผยนโยบายและแนวปฏิบัติการต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชั่น ทางเว็บไซต์ของบริษัท
  2. มีช่องทางการสื่อสารสำหรับร้องเรียน ให้ข้อมูล ความคิดเห็นจากบุคคลภายนอก โดยแจ้งทางอีเมลมาที่ compliance@talisam.co.th หรือส่งหนังสือถึงฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานและบริหารความเสี่ยง ตามที่อยู่ของบริษัท

7.2 การสื่อสารภายในองค์กร และการฝึกอบรม

  1. ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติและแสดงความมุ่งมั่นต่อการต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชั่น ให้ทราบโดยทั่วกันทั้งองค์กร
  2. พนักงานจะได้รับการสื่อสารในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่องทางช่องทางการสื่อสารของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ เช่น อีเมล บอร์ดติดประกาศของบริษัท ตลอดจนได้รับการอบรมให้ความรู้ในเรื่องต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชั่นอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
  3. บริษัทจัดให้มีการปฐมนิเทศให้แก่พนักงานใหม่ เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการให้สินบนและคอร์รัปชั่น ความคาดหวังของบริษัท และรู้ถึงบทลงโทษหากพนักงานไม่ปฏิบัติตามมาตรการนี้
  4. กรณีที่พนักงานมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัตินี้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานและบริหารความเสี่ยง

8.1 บริษัทมีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสม โดยมีการจัดโครงสร้างองค์กร แบ่งแยกหน้าที่การทำงานที่เหมาะสม และมีข้อมูลทางบัญชีที่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งมีการจัดเก็บรักษาข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานที่เหมาะสม โดยสามารถเรียกดูเพื่อการตรวจสอบและรายงาน

8.2 บริษัทมีการบันทึกบัญชีที่ถูกต้องตามมาตรฐานบัญชี โดยมีรายละเอียดและหลักฐานประกอบ รวมทั้งมีการบันทึกตามลำดับเวลาที่ถูกต้อง รวมทั้งมีการกำหนดระเบียบและขั้นตอนการขออนุมัติเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น วงเงินในการอนุมัติ โดยต้องมีเอกสารเบิกจ่ายครบถ้วนถูกต้อง และมีการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีภายนอกที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

8.3 ห้ามมิให้บันทึกรายการนอกบัญชี (off-the-book record) เพื่อป้องกันการปกปิดการให้สินบน

9.1 บริษัทกำหนดให้มีการทบทวนนโยบายและแนวปฏิบัติต่อต้านการให้สินบนและการคอร์รัปชั่นเป็นประจำทุก 3 ปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ

9.2 ให้คณะกรรมการตรวจสอบประเมินความเพียงพอของมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างเป็นอิสระ และให้คำแนะนำต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ