ระวังเงินบาทจะแข็งค่า (2)

27 เมษายน 2016

โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ ทาลิส

ในตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงปัจจัยต่างๆที่จะหนุนให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า ไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลการค้าจากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงอย่างมากและการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยในรูปสกุลเงินดอลล่าร์ (Foreign Reserve) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี 2016 ที่ผ่านมา สัปดาห์นี้ ผมจะพาทุกคนไปย้อนดูดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองระหว่างประเทศ รวมถึงค่าเงินบาทในอดีต และสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตกันครับ

ตั้งแต่ปี 1991 ประเทศไทยมีการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอดอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 1991 – 1996 ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ยปีละ 6.5% และในเวลาเดียวกันหนี้สินในสกุลเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวจาก 37.9 พันล้านเหรียญสหรัฐมาเป็น 108.7 พันล้านเหรียญในปี 1996 ณ เวลานั้น(เปิด BIBF) อัตราส่วนหนี้สินต่างประเทศต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2.81 เท่าเลยทีเดียว (ประเทศไทยมีหนี้สินต่างประเทศมากกว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ)  แน่นอนว่าการที่สถานภาพทางการเงินของประเทศเป็นแบบนี้ ส่งผลให้มีนักเก็งกำไรค่าเงินในต่างประเทศและพวก Hedge Fund ได้เข้ามาทำการโจมตีค่าเงินบาท ธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลานั้นได้พยายามปกป้องค่าเงินบาทด้วยการเข้าแทรกแซง โดยสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศไปถึง 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็ไม่สามารถต้านทานกระแสการเก็งกำไรและโจมตีค่าเงินบาทได้ ส่งผลให้ในปี 1997 ประเทศไทยต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เงินบาทในขณะนั้นอ่อนค่าในทันทีถึงระดับประมาณ 60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เหตุการณ์นี้เราเรียกกันว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง อันโด่งดังนั่นเอง

แต่หลังจากปี 1997 เป็นต้นมา จากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าและเศรษฐกิจไทยทรุดตัวลง ส่งผลให้การส่งออกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงส่งผลให้สินค้าไทยมีราคาถูกลงในรูปดอลล่าร์ และทำให้ส่งออกดีขึ้นอย่างมาก ในทางกลับกัน สินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมีราคาแพงขึ้น ทำให้การนำเข้าทรุดตัวลง ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยตั้งแต่ปี 1998-2000 บัญชีเดินสะพัดของเราเกินดุลถึงประมาณปีละ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของ GDP ในช่วง 3 ปีนั้น แต่เมื่อไปดูเงินทุนสำรองระหว่างประเทศแล้วมีการปรับตัวเพิ่มจาก 27 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็น 32 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือแค่ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ก็จะเห็นแนวว่าเพิ่มสูงขึ้นแต่ไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขประมาณ 36 พันล้านเหรียญสหรัฐที่ได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงเวลานั้น

สาเหตุเนื่องมาจากประเทศไทยนำเงินส่วนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดนี้ไปจ่ายคืนหนี้ต่างประเทศ และส่งผลให้หนี้ต่างประเทศของประเทศไทยปรับตัวลดลงจาก 109.3 พันล้านเหรียญในปี 1997 เหลือเพียง 79.7 พันล้านเหรียญ โดยลดลงประมาณ 30 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2000 และเมื่อมองไปที่ค่าเงินบาท จะเห็นว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ตามเงินทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยจาก 47 บาทต่อเหรียญสหรัฐในปลายปี 1997 ค่าเงินแข็งขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 36.65 บาทต่อเหรียญสหรัฐใน 1 ปีถัดมา และในปลายปี 2000 ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 43.39 แข็งค่าขึ้นจากช่วงวิกฤติประมาณ 8% เลยทีเดียว

หลังช่วงวิกฤติ ประเทศไทยก็มีการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมาต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินทุนสำรองอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยในปี 2010-2012 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยโดยเฉลี่ยสูงถึง 176 พันล้านเหรียญสหรัฐ แน่นอนว่าค่าเงินบาทก็แข็งค่าเช่นกัน โดยเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 30.73 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
ในปี 2015 ที่ผ่านมาบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลสูงที่สุด โดยเกินดุลถึง 31.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องมาจากการลดลงของราคาน้ำมันและการท่องเที่ยวดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยจากการที่มีการชำระคืนหนี้สินต่างประเทศส่วนหนึ่งและนักลงทุนไทยมีการซื้อกิจการในประเทศและต่างประเทศจากผู้ถือหุ้นต่างประเทศหลายแสนล้านบาท ทำให้จะต้องมีการนำเงินออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนักลงทุนในประเทศไทยได้มีการลงทุนทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุนของต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

สำหรับในปี2016 นี้ คาดว่าประเทศไทยเราจะมีการเกินดุลประมาณ 35-40 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบ 9-10% ของ GDP เกือบเท่าจุดสูงสุดที่ 12.7% ของ GDP ในปี 1998 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในไตรมาสแรกอยู่ที่ 175.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 190 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำจุดสูงสุดใหม่ได้ในสิ้นปีนี้ และน่าจะสูงกว่า 200 พันล้านเหรียญในปี 2560 โดยถ้าหากราคาน้ำมันใน 1-3 ปีนี้ยังอยู่ในระดับราคา 50 เหรียญสหรัฐ การได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 100 พันล้านเหรียญ ย่อมจะส่งผลให้บัญชีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และน่าจะสร้างแรงกดดันให้เงินบาทมีการปรับแข็งค่าขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยคงจะต้องเหนื่อยกันอีกครั้งใหญ่ที่ต้องเข้ามาดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไปในอนาคตอันใกล้นี้ครับ

by posttoday