มีวิธีการเก็บรักษาทรัพย์สินอย่างไร

July 20th, 2017

เพื่อความโปร่งใสและป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลจะถูกดูแลและเก็บรักษาไว้ที่ผู้รับฝากทรัพย์สิน

ผู้รับฝากทรัพย์สิน เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทจัดการหรือลูกค้าให้ทำหน้าที่ในการเก็บรักษาทรัพย์สิน รวมทั้งการรับมอบ ส่งมอบ ตรวจสอบความถูกต้อง ตรวจนับทรัพย์สิน ทำทะเบียนทรัพย์สิน ติดตามสิทธิประโยชน์จากการลงทุน และจัดทำรายงานให้บริษัทจัดการทราบ โดยต้องเป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.

การแต่งตั้งผู้รับฝากทรัพย์สิน บริษัทจัดการจะแต่งตั้งผู้รับฝากทรัพย์สินได้เฉพาะบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยบริษัทจัดการและผู้รับฝากทรัพย์สินจะมีสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

หน้าที่/ความรับผิดชอบของผู้รับฝากทรัพย์สิน ผู้รับฝากทรัพย์สินมีหน้าที่/ความรับผิดชอบพอสังเขป ดังนี้
รับและส่งมอบทรัพย์สินของลูกค้าตามคำสั่งของบริษัทจัดการที่มีหลักฐานอ้างอิงได้

ดำเนินการเพื่อให้ลูกค้าสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสาร

บันทึกรายการในบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าให้ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน

จัดให้มีการตรวจนับทรัพย์สินของลูกค้าในส่วนที่ผู้รับฝากทรัพย์สินเก็บรักษา

จัดทำทะเบียนการรับฝากและการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าแต่ละราย

จัดทำรายงานเกี่ยวกับฐานะทรัพย์สิน

เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในสถานที่ที่มีความมั่นคงปลอดภัย และแยกทรัพย์สินนั้นไว้ในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกค้า

การลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

March 1st, 2016

ค่าธรรมเนียมการจัดการ
ค่าธรรมเนียมการรับฝากทรัพย์สิน รวมถึงค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการรับฝากทรัพย์สิน

ค่าธรรมเนียมนายหน้าค้าหลักทรัพย์ และค่าธรรมเนียมตัวแทน รวมถึงค่าธรรมเนียมอื่น ๆ สำหรับการซื้อ/ขาย และไถ่ถอนหลักทรัพย์

ค่าธรรมเนียมผู้สอบบัญชี (ถ้ามี) ในกรณีที่ผู้ลงทุนประสงค์จะแต่งตั้งผู้สอบบัญชีกองทุน

ค่าธรรมเนียมการโอนหรือจดทะเบียนหลักทรัพย์ และค่าอากรแสตมป์

กองทุนส่วนบุคคลและกองทุนรวมเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

March 1st, 2016

ทั้งกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนรวมนั้น จะมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนผู้ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ และความรู้ทางด้านลงทุนเป็นผู้บริหารจัดการ แต่กองทุนส่วนบุคคลจะมีรูปแบบการลงทุนที่มีความยืดหยุ่นสูงกว่า สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนได้ตามความต้องการของผู้ลงทุนแต่ละรายได้ตามแต่ละช่วงสถานการณ์ การบริหารจะแยกบริหารออกจากกันเป็นรายกองทุน โดยทรัพย์สินที่ลงทุนในกองทุนทุกประเภทจะยังอยู่ในชื่อของผู้ลงทุน ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะต้องมีเงินลงทุนในจำนวนที่มากพอสมควรเพื่อที่จะสามารถกระจายความเสี่ยงได้

ส่วนกองทุนรวมนั้น จะเป็นการระดมเงินลงทุนจากผู้ลงทุนรายย่อยหลายรายผ่านการจำหน่ายหน่วยลงทุนและจัดตั้งเป็นกองทุนรวม จดทะเบียนกองทรัพย์สินกับสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนรวมจะถูกกำหนดโดยบริษัทจัดการ ผู้ลงทุนจะลงทุนในกองทุนที่พิจารณาแล้วว่าเหมาะสมกับตนโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก และได้รับการยกเว้นภาษี

ทำไมต้องลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล

March 1st, 2016

กองทุนส่วนบุคคลจะมีนโยบายและข้อจำกัดการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงเป็นไปตามความต้องการของผู้ลงทุนแต่ละราย โดยนโยบายและข้อจำกัดการลงทุนดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงิน ภาระทางการเงิน ประสบการณ์ในการลงทุน รวมถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และผลตอบแทนที่คาดหวังของผู้ลงทุนแต่ละรายนั้น ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกรูปแบบการลงทุนได้หลากหลายไม่ว่าจะลงทุนในตลาดทุน หรือตราสารทางการเงินตามความต้องการของตน