ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 ตามที่คาดการณ์ โดยอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility อยู่ที่ 4.00%, อัตราดอกเบี้ย Main Refinancing อยู่ที่ 4.50% และอัตราดอกเบี้ย Marginal Lending Facility อยู่ที่ 4.75% ในการประชุมครั้งนี้ ECB ได้ส่งสัญญาณถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ได้ใกล้เข้ามาซึ่งอาจเกิดขึ้นเร็วสุดในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมิถุนายน สะท้อนผ่านแถลงการณ์ที่ระบุเป็นครั้งแรกว่า หากประมาณการเงินเฟ้ออันใหม่ได้สร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังชะลอลงกลับเข้าเป้าหมาย 2% อย่างยั่งยืน การลดอัตราดอกเบี้ยลงก็มีความเหมาะสม ECB ระบุเช่นเดิมว่าการตัดสินใจเรื่องระดับดอกเบี้ยที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา และจะพิจารณาในแต่ละรอบการประชุมไป โดยไม่ได้ผูกมัดถึงแนวทางการลดดอกเบี้ยแบบใดแบบหนึ่ง สะท้อนถึงการลดดอกเบี้ยที่อาจไม่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน ด้านการลดขนาดงบดุล ECB ระบุเช่นเดิมว่าจะเริ่มลดการถือครองพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการพิเศษที่เริ่มช่วงวิกฤตโควิด (Pandemic Emergency Purchase Program - PEPP) ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ในอัตราเฉลี่ยเดือนละ 7.5 พันล้านยูโร และตั้งใจที่จะยุติการซื้อคืนพันธบัตรดังกล่าว ณ สิ้นปี ขณะที่ได้ยุติการซื้อคืนพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการปกติหรือ Asset Purchase Program (APP) ไปแล้ว
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.1% และคงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ตามที่เคยระบุไว้ในการประชุมเดือนมีนาคมที่ผ่านมา BOJ ประเมินว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และสภาวะการเงินผ่อนคลาย ทำให้คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 2.8%YoY ในปีนี้ จากคาดการณ์ในเดือนมกราคมที่ 2.4%YoY แม้บางภาคส่วนของเศรษฐกิจมีความอ่อนแอบ้าง ทำให้คาดการณ์ GDP ในปีนี้ลดลงเป็น 0.8%YoY จากเดิมที่ 1.2%YoY ผู้ว่าการบีโอเจกล่าวในแถลงการณ์หลังการประชุมว่ายังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ตาม BOJ อาจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หากภาพรวมเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และขึ้นอยู่กับภาพรวมเศรษฐกิจ พร้อมส่งสัญญาณลดการเข้าซื้อพันธบัตรในระยะข้างหน้า แต่ไม่ต้องการใช้การเข้าซื้อพันธบัตรเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายทางการเงิน ด้านการอ่อนค่าของค่าเงินเยนในระยะนี้ นายอูเอดะระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และ BOJ กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังคงมีความไม่แน่นอน
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ตามตลาดคาดการณ์ด้วยมติ 5 ต่อ 2 ในการประชุมวันที่ 10 เมษายน เช่นเดียวกับการประชุมครั้งก่อนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยนับเป็นการคงดอกเบี้ยต่อเนื่อง เป็นครั้งที่สาม สวนทางความต้องการของรัฐบาลที่พยายามกดดันให้ลดดอกเบี้ยลง กรรมการส่วนใหญ่มองอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน อีกทั้งมองว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลที่จำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อให้สอดรับกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวลดลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และเพื่อช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ลงบ้าง ธปท. มองเศรษฐกิจปี 2024 จะเติบโตดีขึ้นอยู่ที่ 2.6% จากปีก่อนหน้าที่โตเพียง 1.9% และคาดจะดีต่อเนื่องในปี 2025 ที่ 3.0% โดยหลักจากภาคการท่องเที่ยวที่หนุนกิจกรรมในภาคบริการ รวมถึงการบริโภคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเร่งเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ส่งออกทยอยฟื้นตัวขึ้น อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงฉุดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้านเงินเฟ้อทั่วไป ธปท. คาดจะขยายตัวเฉลี่ย 0.6% ในปีนี้ โดยมองว่าจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ได้ในช่วงปลายปี
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับขึ้นตามทิศทางตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ เนื่องจากเฟดมีแนวโน้มชะลอการลดดอกเบี้ย จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีต่อเนื่อง มีความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น จากความขัดแย้งในตะวันออกกลางซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกโดยตรง พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปีกลับขึ้นมาแตะระดับ 5% อีกครั้งเทียบกับตอนสิ้นปีที่ 4.26% และเคยอยู่ในระดับ 5% ช่วงพฤศจิกายนปีที่แล้ว ส่วนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีขึ้นมาอยู่ที่ 4.69% จาก 3.84% สิ้นปีที่ผ่านมา ทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงอายุไม่เกิน 1 ปีไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนัก ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับขึ้น 5-33Bps ส่วนการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ยังคงเป็นการขายสุทธิ โดยแบ่งเป็นขายพันธบัตรระยะสั้น 1.3 พันล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.4 หมื่นล้านบาท และมีพันธบัตรครบกำหนด 4 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 8.7 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2023 ประมาณ 7.1 หมื่นล้านบาท
ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ