ผลกระทบต่อ Brexit ต่อตลาดหุ้นไทย

29 มิถุนายน 2559

เป็นที่ทราบกันแล้วนะครับ ว่าผลการลงประชามติของประเทศอังกฤษในประเด็นว่าต้องการให้อังกฤษอยู่ต่อ (Remain) หรือออกจาก (Leave) การเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น เป็น Leave 52% และ Remain 48% โดยมีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 72% ซึ่งผลการลงประชามติที่ออกมานั้นนอกเหนือการคาดหมายของนักลงทุน เนื่องจากผลสำรวจการลงประชามติในสัปดาห์สุดท้ายค่อนข้างเอนเอียงไปทางที่ฝ่าย Remain จะมีมากกว่าฝ่าย Leave ทำให้นักลงทุนทั่วโลกตื่นตระหนก ทั้งผิดคาดและเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกจึงยังคาดการณ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่ชัดเจน เมื่อนักลงทุนยังไม่แน่ใจกับผลที่จะตามมา จึงมีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งเงินปอนด์และเงินยูโร และย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำแทน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ทองคำ และถือเงินสกุลหลักที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อย เช่น ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือเงินเยน แทน

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว บลจ.ทาลิส มีมุมมองผลกระทบใน 3 ด้านคือ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ผลกระทบด้านการเมือง และผลกระทบด้านการลงทุน

1. ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

ในด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น เนื่องจากเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกที่ยังคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ชัดเจน ทำให้นักลงทุนมองภาพในแง่ลบไว้ก่อน เช่น ประเทศอังกฤษมีโอกาสจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เนื่องจากจะต้องเริ่มเจรจาการค้าระหว่างประเทศใหม่หมด ทำให้ค่าเงินปอนด์จะต้องอ่อนค่าอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยัง EU และเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่งในระยะสั้น ก็ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของอังกฤษและกลุ่มประเทศ EU มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะหดตัวลงได้ เนื่องจาก

  • ค่าเงินปอนด์และเงิน EU อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง และมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งทำให้การทำการค้าการลงทุนในภาวะเช่นนี้ยากลำบากขึ้น
  • ตลาดหุ้นประเทศอังกฤษและกลุ่มประเทศ EU มีการปรับตัวลดลงรุนแรง มีความผันผวนมากขึ้น และมีโอกาสที่เงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติจะลดลง ทำให้ความมั่งคั่งของประชาชนลดลง และสภาพคล่องทางการเงินลดลง
  • ความไม่แน่นอนทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในประเทศอังกฤษและกลุ่มประเทศ EU ชั่วคราว เพื่อดูแนวโน้มเศรษฐกิจ นโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาล และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง
  • ราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอังกฤษลดลง เนื่องจากความต้องการลดน้อยลง โดยเฉพาะหากมีข้อจำกัดที่มากขึ้นเกี่ยวกับแรงงานนอกประเทศเข้ามาทำงานในประเทศอังกฤษ หรือมีการย้ายสำนักงานของบริษัทข้ามชาติออกจากประเทศอังกฤษ
  • ภาคการธนาคารมีแนวโน้มจะระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น เราจึงเห็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศอังกฤษลง เช่น Fitch ลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศอังกฤษลงจากระดับ “AA+” เป็น “A” ส่วน S&P มีการลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศอังกฤษลงจาก “AAA” เป็น “AA” และแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือเป็น “เชิงลบ” และมีการปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) จาก 1.5% และ 1.9% ในปี 2016 และ 2017 ตามลำดับ เป็น 1.1% และ -0.4% ในปี 2016 และ 2017 ตามลำดับ (ข้อมูล Bloomberg Consensus) เนื่องจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ กระบวนการในการเปลี่ยนผ่าน และกฎระเบียบที่จะมีการเปลี่ยนแปลง

แต่...เราต้องเข้าใจก่อนว่า Brexit ไม่ใช่อะไรที่เกิดขึ้นทันทีทันใด แม้ว่าชาวอังกฤษจะลงประชามติเรียบร้อยแล้ว แต่ในแง่กระบวนการยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ซึ่งคาดว่าไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยเฉพาะเมื่อนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษลาออก และจะมีผลในเดือนตุลาคม ทำให้อังกฤษต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และต้องส่งเรื่องให้สภาฯ อนุมัติตามประชามติ (ซึ่งสภาฯ สามารถมีมติไม่อนุมัติการขอออกจาก EU ก็ได้) ก่อนจะดำเนินการส่งเรื่องขอออกจาก EU อย่างเป็นทางการ และต้องมีการเจรจาเกี่ยวกับรายละเอียดทางเทคนิคกับคณะกรรมการยุโรปภายในระยะเวลา 2 ปี แต่คณะกรรมการยุโรปสามารถขยายระยะเวลาออกไปอีกได้ ซึ่งก่อนที่อังกฤษจะออกจาก EU อย่างเป็นทางการ อังกฤษและ EU ยังดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เหมือนเดิม ดังนั้น อังกฤษ EU หรือประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังมีเวลาที่จะดำเนินการและปรับตัว ก่อนที่การออกจาก EU ของอังกฤษจะมีผล ซึ่งการเจรจาทางการค้าระหว่างอังกฤษกับกลุ่ม EU นั่น ก็ยังสามารถเกิดข้อสรุปได้หลายแบบ เช่น การดำรงความสัมพันธ์แบบ European Economic Area การเจรจาเป็นรายประเทศ (Bilateral Talk) หรือการดำรงความสัมพันธ์แบบ World Trade Organization (WTO) ซึ่งผลสรุปของการเจรจาแต่ละแบบ ก็ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะถัดไปที่แตกต่างกัน

อีกประเด็นหนึ่ง การที่อังกฤษกำลังดำเนินการเพื่อออกจาก EU อย่างเป็นทางการนี้ รัฐบาลและธนาคารกลางของทุกประเทศทั่วโลกล้วนเข้าใจถึงสถานการณ์ความเสี่ยง และทุกประเทศต่างพร้อมที่จะดำเนินมาตรการเท่าที่จำเป็นเข้ามาดูแลเศรษฐกิจของตนเอง ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการชะงักงันทางเศรษฐกิจที่นักลงทุนวิตกกังวลได้

นอกจากนี้ การที่ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงมาก น่าจะเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากประเทศอังกฤษก็เป็นจุดหมายหลักแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องการไปเยือนและจับจ่ายใช้สอยอยู่แล้ว (ประเทศอังกฤษมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศมากเป็นอันดับ 8 ของโลก โดยในปี 2015 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าอังกฤษ 36.11 ล้านคน) และในระยะถัดไป เมื่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนมีมากขึ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของอังกฤษก็จะกลับมาเป็นที่สนใจของนักลงทุนอีกครั้ง เนื่องจากราคาที่ลดลงและค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่า ที่ทำให้สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ของอังกฤษได้ในราคาที่ถูกลงมาก

ในระยะยาว ผลจาก Brexit อาจจะส่งผลดีต่ออังกฤษและ EU เอง หากสามารถทำให้กลุ่มประเทศ EU หันกลับมามองตัวเอง และมีการปฏิรูปตัวเองครั้งใหญ่ เนื่องจากเราก็ทราบกันว่า ณ สถานการณ์ปัจจุบัน เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ EU ยังเติบโตในระดับต่ำมาก ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็มาจากข้อจำกัดของการดำเนินนโยบายการเงินการคลังของแต่ละประเทศ เนื่องจากการผูกติดเป็นกลุ่มประเทศ EU นั่นเอง และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นกับอังกฤษ ก็จะสามารถทำให้สมาชิกกลุ่ม EU ดูเป็นแบบอย่างได้ว่า ควรจะอยู่ต่อหรือดำเนินการออกจากสมาชิกของกลุ่ม EU

ผลดีอีกประการของ Brexit คือการที่อังกฤษสามารถประหยัดงบประมาณที่ต้องจ่ายค่าสมาชิกให้แก่ EU ถึงปีละ 12,900 ล้านปอนด์ หรือวันละ 35 ล้านปอนด์ และเงินช่วยเหลือพิเศษอื่น ๆ ที่ต้องให้แก่ประเทศสมาชิก EU ในกรณีที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นมีปัญหา แม้ว่าอังกฤษจะได้รับกลับคืนเป็นเงินช่วยเหลือจาก EU บางส่วน แต่สุทธิแล้วอังกฤษก็ยังเป็นผู้จ่ายให้แก่ EU อยู่ดี และการออกจาก EU ทำให้อังกฤษสามารถกำหนดนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจได้อย่างเสรีตามความจำเป็นของประเทศมากขึ้น

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้นคาดว่าจะมีค่อนข้างจำกัด เพราะไทยค้าขายกับประเทศอังกฤษประมาณ 2% และค้าขายกับกลุ่มประเทศ EU (ไม่รวมอังกฤษ) ประมาณ 8% เท่านั้น ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากอังกฤษคิดเป็นประมาณ 3% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด และนักท่องเที่ยวจาก EU (ไม่รวมอังกฤษ) คิดเป็น 16% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด (ไทยอาจจะเสียดุลบริการมากขึ้น ในแง่ที่ค่าเงินปอนด์และเงิน EU อ่อนค่า คนไทยจึงเฮโลไปเที่ยวอังกฤษและประเทศ EU มากขึ้นก็ได้)

ผลกระทบจาก Brexit น่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง และความคาดหวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของหลาย ๆ ประเทศหายไป กลายเป็นความคาดหวังว่าอาจจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยหากเศรษฐกิจของประเทศตนเองได้รับผลกระทบจาก Brexit ด้วยซ้ำ ในขณะที่สภาพคล่องทางการเงินก็จะยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากธนาคารกลางของหลาย ๆ ประเทศยังคงเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของประเทศศตนเองต่อไป

2. ผลกระทบด้านการเมือง

ในด้านผลกระทบด้านการเมืองนั้น แน่นอนว่าผลการลงประชามติ Brexit จะส่งผลให้เกิดความปั่นปวนทางการเมืองทั้งในอังกฤษและกลุ่มประเทศ EU ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอังกฤษ การเรียกร้องให้มีการลงประชามติเพื่อแยกประเทศของสกอตแลนด์ หรือการเรียกร้องให้มีการลงประชามติเพื่อแยกประเทศออกจากกลุ่มประเทศ EU ของประเทศสมาชิกอื่น ๆ รวมถึงโอกาสที่การเลือกตั้งผู้นำประเทศของกลุ่มประเทศ EU ในระยะถัดไป จะมีการเลือกกลุ่มหรือพรรคที่สนับสนุนลัทธิชาตินิยมมากขึ้น นอกจากนี้ เราคงจะได้เห็นความพยายามต่อรองเงื่อนไขการออกจาก EU ระหว่างอังกฤษกับกลุ่มประเทศ EU เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองให้มากที่สุดด้วย ผลกระทบทางด้านการเมืองเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน และต้องใช้เวลาอีกนานในการเปลี่ยนผ่าน แต่จะเป็นผลในแง่ Sentiment เท่านั้น ยังไม่เห็นภาพผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลักในระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม ผลดีประการหนึ่งของ Brexit คือการที่อังกฤษสามารถกำหนดนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพเข้าประเทศได้เอง ซึ่งชาวอังกฤษเชื่อว่าน่าจะส่งผลดีต่อสังคมของประเทศมากกว่า เนื่องจากสามารถจำกัดปริมาณแรงงานที่เข้ามาแย่งงานชาวอังกฤษได้มากขึ้น และสามารถดูแลความเสี่ยงเรื่องการก่อการร้ายจากผู้อพยพได้ดียิ่งขึ้น

3. ผลกระทบด้านการลงทุน

ในด้านผลกระทบด้านการลงทุนนั้น ความกังวลที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความปั่นปวนของตลาดการเงินการลงทุนในวันศุกร์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการ Panic Sell ของตลาดหุ้น การเทขายสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน การเทขายเงินปอนด์และเงินยูโร การแย่งกันซื้อตราสารหนี้ ทองคำ เงินดอลล่าร์สหรัฐฯและเงินเยน อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มประเทศเอเชียแล้ว น่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย และความปั่นปวนนี้จะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เนื่องจาก

  • อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป และมีแนวโน้มจะคงอยู่นานขึ้น
  • สภาพคล่องในระบบการเงินยังมีอยู่สูงต่อไป
  • ตลาดหุ้นยุโรปยังน่าจะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง มีแนวโน้มแกว่งตัวลง ทำให้นักลงทุนจะระมัดระวังการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปมากขึ้น

ดังนั้น เมื่อการลงทุนในตลาดหุ้นยังเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น และนักลงทุนจะระมัดระวังการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป ทำให้ต้องเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้นนอกกลุ่มประเทศยุโรปมากขึ้น ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นเอเชียได้รับผลดีจากการปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนด้วย

สำหรับตลาดหุ้นไทยเอง จากการที่ปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติในสัดส่วนที่น้อยอยู่แล้ว ทำให้โอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะขายหุ้นไทยมาก ๆ จากผลกระทบดังกล่าวเป็นไปได้น้อย และหากตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมาก ๆ ในประเทศเองก็มีแรงซื้อกองทุน LTF, RMF ที่ช่วยสนับสนุนตลาดอยู่ ทำให้ความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลงแรง ๆ จากกรณีดังกล่าวมีค่อนข้างจำกัด และการลงทุนในตลาดหุ้นไทยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนในระยะนี้ เนื่องจากตลาดหุ้นโลกมีโอกาสเกิดความผันผวนได้มากกว่า (ยุโรปไม่น่าสนใจลงทุนในขณะนี้ สหรัฐฯและญี่ปุ่นก็จะมีความผันผวนมากขึ้น แต่เอเชียจะเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น) ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้จากการเติบโตของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ยังเติบโตดี และมีการจ่ายเงินปันผลในระดับที่น่าพอใจ