ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2562

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -1.1% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 เนื่องจากตลาดขาดปัจจัยบวกใหม่ และมีปัจจัยกดดันตลาด ได้แก่ การอ่อนค่าของเงินบาท การลดดอกเบี้ยของเฟดที่อาจจะน้อยกว่าที่คาด และความเสี่ยงของ Brexit เป็นต้น

หลังจากที่ SET Index ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนมาอยู่บริเวณ 1,730 – 1,740 จุดในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ตลาดเริ่มแกว่งตัวออกข้างในกรอบแคบ ในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จนมาอยู่ที่ระดับ 30.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่านั้นมาจากรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น Fund Flow ที่เข้ามาในตลาดหุ้น ความแข็งแกร่งของดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเฟดมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างมากในเวลาอันสั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศไทยเท่าไรนัก เนื่องจากประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาการส่งออกสูง ทำให้ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท และเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงในวันเดียวกันประมาณ -0.7% ไปอยู่ที่ระดับประมาณ 30.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับฐานของ SET Index

ถัดมาในช่วงกลางเดือน เป็นช่วงการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่กำไรของทั้งกลุ่มรวมกันยังติดลบประมาณ -3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว จากการลดลงของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น โดยธนาคารขนาดใหญ่มีการเติบโตของสินเชื่อที่ค่อนข้างต่ำ ในขณะที่เริ่มเห็นสัญญาณการก่อตัวของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มมากขึ้น ทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ได้แก่ KBANK และ BBL เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง จากการเติบโตของสินเชื่อและการลดค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สงสัยจะสูญ

ตลาดยังปรับลดลงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายเดือน ทั้งตลาดหุ้นไทยและตลาดทั่วโลก จากความผิดหวังที่ Fed ส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยว่าอาจจะไม่ลดดอกเบี้ยต่อเนื่องอย่างที่นักลงทุนคาดหวัง กอปรกับทางฝั่งอังกฤษเอง นาย Borris Johnson ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ และได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษโดยอัตโนมัติ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลงมากขึ้น เนื่องจากนาย Borris Johnson สนับสนุนและพร้อมเดินหน้า Brexit ตามเส้นตายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562

ในช่วงปลายเดือน ประเด็นบวกทางการเมืองช่วยพยุงตลาดหุ้นเอาไว้ได้ รัฐบาลของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชาได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นที่การบริโภค การท่องเที่ยว และการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย แต่ยังไม่มีนโยบายลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันประกาศออกมา

และในวันสุดท้ายของเดือนกรกฎาคม การประชุม FOMC ของเฟดก็มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาสู่ระดับ 2.0-2.25% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปีตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้ตลาดปรับตัวลงจากการ Sell on fact นั่นเอง

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,711.97 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,730.34 จุด หรือประมาณ -1.1% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ +6.5% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +4.8% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร +1.9% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -12.9% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -7.7% และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง -4.6% ในเดือนมิถุนายนนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 20,054 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 26,565 ล้านบาท