ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (มกราคม 2563)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ (10-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.50%-1.75% ตามที่ตลาดคาด และยังคงมองว่าอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวมีความเหมาะสมในการสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน แถลงการณ์ของ FED ระบุว่า ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง แต่ปรับสัญญาณของการบริโภคครัวเรือนจาก “ขยายตัวสูง” เป็น “ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป” ส่วนการลงทุนภาคธุรกิจและการส่งออกยังอ่อนแอ นอกจากนี้ FED ยังแสดงความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่ต่ำยาวนาน โดยรวมสะท้อนสัญญาณนโยบายการเงินที่ยังผ่อนคลาย ส่งผลให้ตลาดตอบรับในเชิงที่สอดคล้องกัน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลดลงทุกช่วงอายุ ในการประชุมรอบนี้ FED มีมติให้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (IOER: Interest on Excess Reserves) ขึ้น +5bps เป็น 1.6% หลังจากที่ปัญหาสภาพคล่องตึงตัวในตลาดเงินเริ่มผ่อนคลายลง ก่อนหน้านี้สภาพคล่องในตลาดเงินตึงตัวขึ้นตั้งแต่ FED เริ่มลด Balance sheet ในช่วงปลายปี 2017 ได้ส่งผลให้ดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน (Effective Fed Funds Rate) ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง FED จึงลดอัตราดอกเบี้ย IOER ลง เพื่อควบคุมดอกเบี้ย FFR ให้ลดลงมาอยู่ในกรอบของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง FED ระบุว่าจะเข้าซื้อพันธบัตรระยะสั้น (Treasury bills) ไปจนถึงไตรมาส 2/2020 เป็นอย่างน้อย และจะอัดฉีดสภาพคล่องด้วยการปล่อยกู้ระยะสั้นผ่าน Repo Agreements ไปจนถึงเดือน เม.ย. เป็นอย่างน้อย นาย Jerome Powell กล่าวว่าการอัดฉีดสภาพคล่องผ่าน Repo และการซื้อพันธบัตรระยะสั้น จะทำให้สภาพคล่องเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมในช่วงไตรมาส 2 โดยระดับสภาพคล่องที่เหมาะสม ดูได้จากปริมาณเงินฝากของสถาบันการเงินที่ FED (Bank Reserves) ควรอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอย่างน้อย

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศคงนโยบายการเงินในการประชุมเดือนมกราคมตามที่ตลาดคาด คือคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ -0.5% และส่งสัญญาณคงหรือลดดอกเบี้ยจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นและกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2.0%, คงขนาดของมาตรการซื้อสินทรัพย์ (QE) ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนจนกว่าจะขึ้นดอกเบี้ย และคงปริมาณสภาพคล่องในระบบการเงิน โดยการซื้อคืนสินทรัพย์ตามมาตรการ QE ที่ครบกำหนดทั้งหมดเพื่อรักษาแนวโน้มการเพิ่มขนาดงบดุลของธนาคาร นอกจากนี้ ECB ยังประกาศทบทวนกลยุทธ์นโยบายการเงินเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2003 โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 7-2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% และยังคงเป้าหมายการเข้าซื้อพันธบัตรไว้ที่ 4.35 แสนล้านปอนด์ แถลงการณ์หลังการประชุมระบุว่า ดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังการเลือกตั้ง (12 ธ.ค.) ได้ส่งผลให้พรรค Conservative นำโดยนาย Boris Johnson ได้รับเสียงข้างมากในสภา ซึ่งช่วยลดความไม่แน่นอนของ Brexit นอกจากนี้ ดัชนีชี้วัดในตลาดบ้านยังคงแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยคณะกรรมการจะติดตามดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่างๆ อย่างใกล้ชิดว่าจะฟื้นตัวขึ้นอย่างยั่งยืนหรือไม่ รวมทั้งการฟื้นตัวของตัวเลขเศรษฐกิจจริงในระยะข้างหน้า ในการประชุมรอบนี้ BOE ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2020 ลงมา -0.5ppt เป็น 0.75% ซึ่งนับเป็นการขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ และปรับลดประมาณการปี 2021-2022 ลง -0.25ppt เป็น 1.25% และ 1.75% ตามลำดับ ขณะที่คงประมาณการเงินเฟ้อไว้เท่ากับประมาณการครั้งก่อน โดย BOE คาดเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้ ณ สิ้นปี 2021 ซึ่งประมาณการเศรษฐกิจนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าอังกฤษจะได้ข้อตกลงการค้าเสรีกับ EU ในสิ้นปีนี้ตามกำหนดการ ทั้งนี้แถลงการณ์หลังการประชุมระบุว่านโยบายการเงินอาจต้องผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหากการส่งสัญญาณฟื้นตัวของดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและนอกประเทศในช่วงที่ผ่านมาไม่ยั่งยืนหรือหากเงินเฟ้อส่งสัญญาณอ่อนแอลง

ทางด้านภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนที่มีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า และข้อขัดแย้งกรณีการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่ทำให้การเบิกจ่ายลงทุนอาจล่าช้าไปถึงกลางไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมากขึ้น ทำให้นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะอันใกล้นี้ ทางด้านปริมาณการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้มีการถือครองเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา โดยเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 7.7 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 19.1 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุแล้ว คงเหลือการถือครอง 9.26 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 9.8 พันล้านบาทจากปีก่อนหน้า

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

image1