นับตั้งแต่ต้นปี 2559 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงในทุกช่วงอายุตราสาร โดยพันธบัตรระยะสั้นที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ปรับลดลง 5-10 bps, พันธบัตรอายุ 1-10 ปีขึ้นไป ปรับลดลง 9-48 bps และพันธบัตรอายุ 10 ปีขึ้นไป ปรับลดลง 20-45 bps โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ อันได้แก่ ความผันผวนในตลาดการเงินของประเทศจีน ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะภายหลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ประกอบกับตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม นักลงทุนจึงปรับเพิ่มการถือครองสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย นอกจากนี้นักลงทุนยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะยังอยู่ในระดับต่ำตามการปรับลดลงของราคาน้ำมัน
คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปีในการประชุมครั้งแรกของปีนี้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังคงขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน มีอุปสงค์ในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ในขณะที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกสูงขึ้น ทั้งด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก
ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลนับจากต้นปี เมื่อวัดจาก Government Bond Total Return Index ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 3.16% ในขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน เมื่อวัดจาก Corporate Bond Total Return Index อยู่ที่ 1.26%
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในระยะต่อไป คาดว่าจะอยู่ท่ามกลางความผันผวนจากอิทธิพลของปัจจัยภายนอกประเทศดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ ปัจจุบันที่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำและมีความชันน้อยกว่าค่าเฉลี่ย จึงอาจเกิดแรงขายทำกำไรจากนักลงทุนสถาบันได้
ที่มาของข้อมูล BOT, ThaiBMA
You must be logged in to post a comment.