ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 25 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2559

ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยและคงปริมาณการทำ QE ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ GDP ในไตรมาสแรกของปี 2016 ขยายตัวได้เพียง 0.5% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยปัจจัยหลักมาจากการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวและการบริโภคภายในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และการประชุม FOMC ซึ่งผลการประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ นอกจากนี้ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงซึ่งช่วยกดดันภาพรวมตลาดดอกเบี้ยของเอเชียให้ต่ำลง

ทางด้านตลาดพันธบัตรของไทย อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงอายุ 5-15 ปี โดยรวมตลาดค่อนข้างเงียบเนื่องจากเป็นสัปดาห์ที่มีวันหยุดหลายวัน โดยพันธบัตร 10 ปีของไทยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.83% ต่อปี เมื่อเทียบกับ 1.81% ต่อปีในช่วงเวลาก่อนหน้า มูลค่าการซื้อขาย (25/04/16 – 4/05/16) ของนักลงทุนต่างชาติ พบว่าซื้อสุทธิในพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปี จำนวน 1.3 พันล้านบาท และขายสุทธิในพันธบัตรอายุน้อยกว่า 1 ปี จำนวน 15.1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาซื้อพันธบัตรในสัปดาห์นี้เพื่อเก็งกำไรจากโอกาสลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันที่ 11 พ.ค. นี้

ทางด้านการประมูลพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น อัตราผลตอบแทนในรุ่นอายุไม่เกิน 1 เดือนค่อนข้างทรงตัว โดยตั๋วเงินคลังอายุ 28 อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.3387% ต่อปี และพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 14 วัน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.346% ต่อปี ส่วนในรุ่น 91 วันและ 182 วัน อัตราผลตอบแทนปรับขึ้น 1-6 bps เนื่องมาจากเป็นช่วงใกล้วันหยุดยาวและค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของรุ่น 91 วัน และ 182 อยู่ที่ 1.3534% และ 1.3925% ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุประมาณ 13 ปี อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.0594% ต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับในตลาดรอง

160509-1