ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (3 – 7 ตุลาคม 2559 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกในคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FED) บางท่าน สนับสนุนให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และเน้นย้ำว่าการเมืองไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของเฟด ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญบางอย่างแสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น ดัชนีภาคบริการของ ISM อยู่ที่ระดับ 57.1 ในเดือนกันยายน ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์และเพิ่มจากเดือนก่อนที่ระดับ 51.4 และ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน เป็นต้น ทำให้ตลาดเพิ่มการคาดการณ์ความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ยังมีหลายเหตุการณ์จากกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน เช่น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อังกฤษเตรียมแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่กล่าวว่าจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า (Trigger Brexit Process) และการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะทยอยปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตร

จากหลายเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เช่น US Treasury 10-Year ปรับขึ้นเป็น 1.73% ต่อปี จาก 1.60% ต่อปีในสัปดาห์ก่อนหน้า และปัจจัยภายนอกเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ของไทยเช่นกัน อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น 0.02-0.10% ในช่วงอายุ 3-15 ปี ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่อายุไม่เกิน 1 ปีไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ ทั้งพันธบัตรที่อายุไม่เกิน 1 ปี และพันธบัตรระยะยาว จำนวนประมาณ 4.1 พันล้านบาท และ 4.7 พันล้านบาท ตามลำดับ

fixed_income_161011_01