ในเดือนพฤษภาคม SET Index ปรับตัวลง 3.0% จากสิ้นเดือนเมษายน 2561 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ การปรับตัวลงของราคาน้ำมัน และการ Rebalance ดัชนี MSCI
โดยภาพรวมตลาดในเดือนพฤษภาคมมีการปรับตัวลงต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน ในช่วงต้นเดือน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนเมษายน โดยปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 3.10% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในรอบ 7 ปี ตอบรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวอย่างโดดเด่น ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกถูกเทขายอย่างหนัก ส่วนในฝั่งยุโรป เริ่มมีความเสี่ยงทางการเมืองในอิตาลีและสเปนที่เพิ่มขึ้น จากการที่อิตาลีไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หลังจากที่เลือกตั้งผ่านมา 2-3 เดือนแล้ว และนายกรัฐมนตรีสเปนถูกรัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจ ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยลบทั้งสิ้น กดดันดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกให้ปรับตัวลดลง
ปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อ SET Index ได้แก่ การประกาศตัวเลข GDP ในไตรมาส 1 ของไทยออกมาสูงกว่าคาดอยู่ที่ 4.8% และเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 20 ไตรมาส เป็นตัวชี้ชัดว่าเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงฟื้นตัวและกำลังเติบโตต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนไทย อีกทั้งในปลายเดือน การเลือกตั้งของไทยที่มีพัฒนาการในเชิงบวก หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายที่มา สว. และร่างกฎหมายการเลือกตั้ง สส. ว่าไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปตาม Road Map ที่รัฐบาลวางไว้ ซึ่งคาดจะเกิดการเลือกตั้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2562 ปัจจัยเหล่านี้น่าจะหนุนให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นได้
นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมยังเป็นช่วงการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 ปี 2561 โดยผลกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดรวมกันอยู่ที่ 2.89 แสนล้านบาท เติบโต 15.9% เทียบกับไตรมาส 4 และ 0.6% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2560 โดยกลุ่มที่ผลประกอบการดีกว่าคาดมากที่สุดคือกลุ่มพลังงานทางเลือก และกลุ่มที่ผลประกอบการต่ำกว่าคาดมากที่สุดคือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนกลุ่มที่กำไรสุทธิออกมาเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มพลังงานทางเลือก และกลุ่มการแพทย์ และกลุ่มที่กำไรสุทธิลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนในกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ แม้ว่าผลประกอบการในไตรมาส 1 จะออกมาตามที่คาด แต่ราคาหุ้นมีการปรับตัวลงค่อนข้างแรง สาเหตุมาจากการที่กระทรวงการคลังจะออกร่างพ.ร.บ. กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน (ยกเว้นสถาบันการเงิน) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีการควบคุมอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลในความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่าง ๆ หากอัตราดอกเบี้ยใหม่ถูกปรับลดลง สำหรับหุ้น SAWAD นั้น แม้ว่าจะไม่มีความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับร่างพ.ร.บ. ใหม่นี้ เนื่องจากได้ปรับโครงสร้างองค์กรไปอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วนั้น แต่ผลประกอบการในไตรมาส 1 กลับออกมาค่อนข้างน่าผิดหวัง ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงแรงเช่นกัน
ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจัยภายในประเทศจะยังค่อนข้างเป็นบวกต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้น แต่ปัจจัยภายนอกได้ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่ MSCI มีการเพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นจีน และลดน้ำหนักของตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาค และการที่คาดการณ์ว่า OPEC จะมีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในการประชุมเดือนมิถุนายน ทำให้มีแรงขายหุ้นไทยออกมามาก โดยเฉพาะหุ้น Market Cap ขนาดใหญ่ เช่น PTT, AOT, CPALL และ PTTEP เป็นต้น
สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 SET Index ปิดที่ 1,726.97 จุด ปรับตัวลดลง 3.0% จากเดือนก่อนหน้า โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +13.5% กลุ่มการแพทย์ +10.2% และกลุ่มยานยนต์ +5.4% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -11.0% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -9.8% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -7.4% ในเดือนพฤษภาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิมากที่สุดมูลค่า 51,859 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 23,167 ล้านบาท
บลจ. ทาลิสคาดว่าหลังจากตลาดหุ้นปรับฐานในเดือนพฤษภาคม ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้น เนื่องจากตลาดได้ซึมซับปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศไปค่อนข้างมากแล้ว และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ดี และเริ่มมีการกระจายไปยังทุกภาคส่วน ทั้งภาคการบริโภค การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน แม้ว่าการกระจายรายได้สู่ผู้มีรายได้น้อยยังเป็นปัญหาอยู่ก็ตาม รวมไปถึงโครงการ EEC ของรัฐบาลที่เริ่มเดินหน้าชัดเจนขึ้น ทำให้มีแนวโน้มสูงที่จะมีการปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปีนี้ อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง หนุนการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียน และผลักดันตลาดหุ้นให้มีแนวโน้มขึ้นต่อไปได้
สำหรับปัจจัยเสี่ยง ยังคงมีประเด็นการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ