ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บลจ.ทาลิสมีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2560 และในปี 2561 นี้ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเร่งตัวขึ้น โดยการเติบโตได้มีการกระจายตัวไปยังทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาครัฐ การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน โดยได้รับแรงกระตุ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เติบโตดีขึ้น นโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การท่องเที่ยวที่ยังเติบโตดี และนโยบายโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตได้ประมาณ 10% เมื่อประกอบกับแนวโน้มการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ก็เชื่อว่าภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นยังมีทิศทางที่ดี และ SET Index ยังมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นได้ แม้ว่าการปรับตัวขึ้นในปีนี้จะน้อยกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ตาม
ในขณะที่ปัญหาเรื่องเงินลงทุนไหลออกนั้น ผลกระทบต่อตลาดหุ้นมีน้อยกว่าในอดีตที่ผ่านมามาก และเชื่อว่าสภาพคล่องในประเทศเองสามารถรองรับการลดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้ ดังจะเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมีการทยอยลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขายสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2561 ถึง 180,077 ล้านบาท แต่ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลงประมาณ 9% เมื่อเทียบกับปี 2556 และ 2558 ที่นักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิในระดับเดียวกัน แต่ SET Index มีการปรับตัวลดลงถึง 25% รวมทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติมีการเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในระดับที่น้อยมาก (ในช่วงปี 2551 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2561 นักลงทุนต่างชาติมีการซื้อสุทธิเพียง 4 ปี จำนวน 274,779 ล้านบาท แต่มีการขายสุทธิถึง 7 ปี จำนวน 759,496 ล้านบาท และสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับต่ำกว่า 30% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำนับตั้งแต่ปี 2546) ขณะเดียวกัน ในด้านความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed นั้น นักลงทุนในตลาดได้รับรู้ถึงแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นของ FED ที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และประมาณการที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นถึงปี 2562 แล้ว ในขณะที่ประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลมาอย่างต่อเนื่องและในปริมาณที่สูง ซึ่งสามารถรองรับเงินลงทุนสุทธิที่ไหลออกได้ และทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market หรือ EM)
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยมีการเปลี่ยนแปลงในทางลบในเดือนที่ผ่านมาจากปัจจัย “Trade War” หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกับประเทศจีนที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าจำนวนมากถึง 350 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสหรัฐฯ มีการตั้งกำแพงภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนประเภทเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกี่ยวกับยานพาหนะ มูลค่า 34 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีผลในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ ซึ่งจีนได้ตอบโต้โดยการตั้งกำแพงภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ประเภทสินค้าเกษตรและอาหาร และรถยนต์ มูลค่า 34 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีผลวันที่ 6 กรกฎาคมเช่นกัน ทำให้สหรัฐฯ มีการประกาศจะตั้งกำแพงภาษีอีก 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่า 200 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่าสงครามการค้าจะยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และเชื่อมโยงถึงการที่ FED อาจจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีนี้เพิ่มอีก 1 ครั้ง รวมถึงการที่สหรัฐฯ และ EU กำลังจะมีการลด QE (ซึ่ง 2 ปัจจัยหลังตลาดได้รับรู้มาก่อนหน้านี้แล้ว) จึงทำให้กังวลว่าค่าเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market: EM) จะอ่อนตัวลง และมีการย้ายเงินลงทุนกลับไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น จึงเร่งให้มีการขายหุ้นในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศ EM มากขึ้นและเร็วขึ้น
สำหรับประเทศไทยเอง ความกังวลดังกล่าวทำให้นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นไทยมากขึ้น และทำให้นักงทุนไทยมีความวิตกกังวลมากขึ้นและชะลอการลงทุน และเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลงมาระดับหนึ่ง ก็มีแรง Force ขายหุ้นของบัญชี Margin และ Block Trade ผสมโรงเข้ามา รวมถึงการปิด Position สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่หมดอายุในเดือนมิถุนายนนี้ด้วย ทำให้ SET Index ในเดือนมิถุนายนปรับตัวลงอย่างรวดเร็วถึง 7.6%
บลจ. ทาลิสคาดว่า แม้ว่าประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจไม่ได้จบได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะทำให้ความผันผวนของตลาดหุ้นยังมีโอกาสเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง แต่นักลงทุนก็มีการรับรู้และปรับการลงทุนไประดับหนึ่งแล้ว และเนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้าไม่เป็นผลดีต่อทุกประเทศรวมทั้งสหรัฐฯ เอง ทำให้คาดว่าปัญหาสงครามการค้าดังกล่าวจะจบลงด้วยการเจรจาต่อรองกันมากกว่า ทั้งนี้ สิ่งที่สหรัฐฯ และจีนประกาศกำแพงภาษีออกมาแล้วนั้น หากมีการบังคับใช้จริงก็คาดว่าจะกระทบต่อการเติบโตของ GDP ของจีนไม่เกิน 0.5% เท่านั้น ในทางกลับกัน หากปัญหาดังกล่าวมีการเจรจาตกลงกันได้ จะกลับมาเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้น และทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกได้อีกครั้ง เนื่องจากในภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจโลกยังไม่มีปัจจัยใดที่ชี้ว่ากำลังเกิดวิกฤติในภูมิภาคใด จนส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดโลกหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ (การลด QE ของสหรัฐฯ เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่ได้ทำให้ Money Supply ของสหรัฐฯ ลดลง ส่วนกลุ่มประเทศ EU ก็ยังไม่หยุดการเพิ่ม QE จนถึงถึงสิ้นปีนี้)
นอกจากนี้ บลจ.ทาลิสมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลก รวมถึงสหรัฐฯ ในปีนี้ยังมีทิศทางเติบโตที่ดี แต่อาจจะชะลอตัวลงบ้างเล็กน้อยในปีหน้า ส่วนเศรษฐกิจไทย ผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวแทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศที่ยังแข็งแกร่ง และทิศทางการเมืองที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า ในขณะที่ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงนี้ ทำให้ Valuation ของตลาดหุ้นลดลงมาก จนทำให้ค่า PER ของตลาดอยู่ที่ 14 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน และถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับตัวขึ้นในปลายปีนี้ หากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังสามารถเติบโตได้ในระดับ 8-10% ต่อปี Valuation ของตลาดหุ้นในปัจจุบันสามารถรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในปี 2562 แล้ว