ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2561

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา SET Index ได้ปรับตัวลง 5.0% จากสิ้นเดือนกันยายน โดยตลาดหุ้นไทยได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก เช่น ความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และประเด็นเรื่องสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ได้อ่อนตัวลงในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็ได้เป็นปัจจัยลบต่อบริษัทในกลุ่มพลังงาน ในขณะที่บริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย

SET Index ได้เริ่มอ่อนตัวลงตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม โดยปัจจัยหลักที่ได้กดดันตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลก ได้แก่ ความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ภายหลังที่นาย Jerome Powell ประธาน Fed ได้ออกมากล่าวถึงแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่จะยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ความกังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ได้ถูกสะท้อนอยู่ในอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 3.26% ในช่วงตันเดือนตุลาคม

นอกจากความกังวลต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นของ Fed แล้ว ปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็ได้เพิ่มความผันผวนต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึง SET Index ด้วย โดยเกือบทุกข่าวและความเคลื่อนไหว รวมไปถึงข้อความจาก Twitter ของประธานาธิบดี Donald Trump ที่มีความเกี่ยวโยงกับการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ นั้นได้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยในวันที่ 30 ตุลาคม ทางการสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศว่าทางรัฐบาลอยู่ในกระบวนการร่างนโยบายภาษีที่จะมีผลใช้กับสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมหากการหารือระหว่างประธานาธิบดี Donald Trump และประธานาธิบดี Xi Jingping ในการประชุม G20 ในวันที่ 30 พฤศจิกายนถึงวันที่ 1 ธันวาคมนี้ไม่ได้ข้อสรุปอะไร โดยนโยบายดังกล่าวอาจจะคลอบคลุมสินค้าจากจีนอีกมูลค่าประมาณ 257,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหากรวมกับนโยบายภาษีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้นำออกมาใช้แล้ว จะเท่ากับว่ามูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนในปี 2017 จะถูกขึ้นภาษีทั้งหมด

อีกปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยได้แก่ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งได้อ่อนตัวลงค่อนข้างมากในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมัน Brent และ WTI ได้ปรับตัวลง 8.8% และ 10.8% ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้น บวกกับความไม่แน่นอนของมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ จะนำออกมาใช้กับอิหร่าน การอ่อนตัวลงของราคาน้ำมันดิบส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานอ่อนตัวลงกันส่วนใหญ่ โดยราคาหุ้นของกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคได้ร่วงลงถึง 6.2%

นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกที่ได้กล่าวไปแล้ว SET Index ยังได้ถูกกดดันจากการอ่อนตัวของราคาหุ้นของบริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยธุรกิจในกลุ่มนี้ได้รับปัจจัยลบจากความกังวลที่ ธปท. จะมีการปรับเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยมาตรการหลัก ๆ ที่ได้มีการเสนอออกมาได้แก่ การรวมสินเชื่อ Top-Up ทุกประเภทในการคำนวณอัตราส่วนมูลค่าสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) และการปรับ LTV Limit สำหรับการกู้สัญญาที่ 2 ขึ้นไปหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ให้เหลือ 80% โดยการเสนอมาตรการชุดนี้สร้างความกังวลต่อแนวโน้มของอุปสงค์อสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะอ่อนตัวลงและส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลงถึง 6.7% ในเดือนตุลาคม

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนตุลาคม 2561 SET Index ได้ปิดที่ 1,669.09 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,756.41 จุด หรือประมาณ 5.0% จากสิ้นเดือนกันยายน ราคาหลักทรัพย์ของทุกกลุ่มอุตสาหกรรมได้ปิดตัวต่ำกว่าเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลงน้อยที่สุดได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -0.2% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -2.2% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -2.5% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลงแรงที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -9.2% กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ -6.7% และ กลุ่มยานยนต์ -6.6% ในเดือนตุลาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นไทยสุทธิ 64,200 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศได้ทำการซื้อสุทธิ 23,284 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสมีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยในระยะกลางว่ามีแนวโน้มจะแกว่งตัวในกรอบกว้าง 1,600-1,900 จุด จากปัจจัยความเสี่ยงต่างประเทศและแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทย แต่ตลาดหุ้นก็ยังได้รับผลดีจากการเติบโตของเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ ในระยะสั้น ตลาดทุนไทยยังมีโอกาสเกิดความผันผวนจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างที่ได้เผชิญในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ได้ผ่านพ้นไป และหากสหรัฐฯ กับจีนได้ทำการเจรจาข้อตกลงทางการค้าได้ในการประชุม G20 นี้ เราน่าจะเห็นความชัดเจนต่อปัจจัยภายนอกดังกล่าวมากขึ้น และจะเป็นตัวผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวขึ้นเพื่อตอบรับกับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงเติบโตอยู่ และการเลือกตั้งทั่วไปของไทยในต้นปี 2562 ได้