ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ตุลาคม 2561

การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในเดือนนี้ มีมติคงนโยบายการเงิน และคาดว่าจะยุติมาตรการ QE ในสิ้นปีนี้ โดยประธาน ECB แถลงว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ เพื่อให้นโยบายการเงินยังคงมีความผ่อนคลายต่อไปแม้มาตรการ QE จะสิ้นสุด และอัตราดอกเบี้ย (Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4%) จะคงอยู่ในระดับต่ำ ยาวไปจนถึงไตรมาส 3/2019 เป็นอย่างน้อย ส่วนประเด็นร่างงบประมาณของอิตาลี ประธาน ECB ได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า EU และอิตาลีจะหาทางแก้ไขปัญหาด้านงบประมาณร่วมกันได้ แต่มองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังได้ย้ำว่า ECB จะไม่ให้ความช่วยเหลือประเทศที่ไม่ปฎิบัติตามกฎของ EU เด็ดขาด ทางด้านเงินเฟ้อ ECB ยังคงมุมมองว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้ในระยะกลาง จากสภาพตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่องซึ่งจะสนับสนุนให้อัตราค่าจ้างเร่งตัวขึ้น

ในเดือนนี้ไม่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มีเพียงการเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนก.ย. ที่ยืนยันสิ่งที่ตลาดคาดไว้ว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และต่อเนื่องในปี 2019 นอกจากนี้ผลจากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ประจำเดือนก.ย. ที่เปิดเผยออกมา ส่วนใหญ่ส่งสัญญาณดีต่อเนื่อง เช่น การจ้างงานภาคเอกชนสำรวจโดย ADP เพิ่มขึ้น 2.3 แสนราย จาก 1.68 แสนรายในเดือนก่อน โดยนับเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 7 เดือนและมากกว่าที่ตลาดคาดไว้, อัตราการว่างงาน ลดลงเป็น 3.7% จาก 3.9% ในเดือนก่อน นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนก.ย. จะทรงตัวที่ +0.1% mom เท่ากับเดือนก่อนหน้า ซึ่งนักลงทุนในตลาดก็ยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ นำมาซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยเฉพาะรุ่น 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นมาแตะระดับ 3.23% สูงสุดในรอบกว่า 7 ปี อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านต่างประเทศ เช่น ข้อขัดแย้งระหว่างอิตาลีและสหภาพยุโรป, ประเด็นการค้าระหว่างประเทศของจีนและสหรัฐ ได้กดดันให้ตลาดพันธบัตรมีความผันผวน อัตราผลตอบแทนของ 10-Year US Treasury ในเดือนนี้จึงเคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ระหว่าง 3.08-3.23%

ทางด้านอัตราเงินเฟ้อของไทย ในเดือนก.ย. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเป็น +1.33% yoy (เทียบกับ +1.62% เดือนก่อน, +1.23% ตลาดคาด) จากราคาพลังงานเริ่มชะลอลง และราคาอาหารสดที่กลับมาหดตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ +0.8% yoy (เทียบกับ +0.75% เดือนก่อน, +0.71% ตลาดคาด) ด้านความเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือนนี้มีทิศทางปรับตัวขึ้นชัดเจน สาเหตุจากนักลงทุนบางส่วนคาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยอาจพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ตามทิศทางของประเทศสำคัญคือสหรัฐฯ รวมถึงประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ยืนยันการผ่อนคลาย QE และ/หรือกำลังพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 14 วัน, 3 เดือน, 6 เดือน และประมาณ 1 ปี อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดของเดือนที่ 1.3150%, 1.5830%, 1.7465% และ 1.8059% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนก.ย. ที่ 1.1118%, 1.4000%, 1.5902% และ 1.7833% ตามลำดับ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวก็มีทิศทางปรับขึ้นตามตลาดต่างประเทศเช่นกัน แต่เนื่องจากยังคงมีความต้องการจากผู้เล่นในตลาดอยู่มาก จึงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นไม่มากนัก ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 7.7 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะยาว 3.2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

thai-fixed-income-october-2018