ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มกราคม 2562

ในเดือนนี้มีทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองและการประชุมนโยบายการเงินที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน เช่น ที่ประเทศอังกฤษ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Theresa May รอดพ้นมติไม่ไว้วางใจ หลังจากที่ในวันก่อนหน้า ข้อตกลง Brexit ของรัฐบาลโหวตไม่ผ่านความเห็นชอบในสภาด้วยเสียงต่างที่มากเป็นประวัติการณ์ (432-202 เสียง) ส่งผลให้แกนนำฝ่ายค้านเปิดมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยนายกฯ กล่าวว่าจะเร่งเดินหน้าหารือกับสภาเพื่อทำการแก้ไขข้อตกลง Brexit ให้เป็นไปตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ ต่อมาในช่วงปลายเดือน สภาอังกฤษได้มีการอภิปรายและโหวตแนวทางการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งสภาได้โหวตไม่เห็นชอบการเลื่อนใช้มาตรา 50 (เพื่อออกจาก EU อย่างเป็นทางการ) ออกไปจากกำหนดวันที่ 29 มี.ค. นี้ แต่ได้โหวตเห็นชอบให้นายกฯ นำข้อตกลง Brexit เดิมกลับไปเจรจากับ EU อีกครั้ง เพื่อหามาตรการอื่นมาทดแทนมาตรการ “Backstop” ทั้งนี้ มาตรการ Backstop ได้กำหนดขึ้นมาในข้อตกลง Brexit เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงตามพรมแดนระหว่างประเทศสาธารณรัฐไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิก EU และไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร (UK) เพื่อสร้างความมั่นใจว่า แม้ในกรณีที่อังกฤษและ EU ไม่สามารถสรุปข้อตกลงทางการค้าได้ทันในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period; 30 มี.ค. 2019-31 ธ.ค. 2020) บริเวณพรมแดนดังกล่าวจะไม่มีการตั้งด่านระหว่างกันขึ้น

ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายการเงินเดิมตามคาด และยังคงย้ำว่าอัตราดอกเบี้ย (Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4%) จะคงอยู่ในระดับต่ำยาวไปจนถึงไตรมาส 3/2019 เป็นอย่างน้อย โดยประธาน ECB ได้กล่าวว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา ต่ำกว่าที่คาดค่อนข้างมาก อันเป็นผลจากทั้งอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอลงและความเสี่ยงเฉพาะในบางประเทศและบางอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันการค้าได้ส่งผลกดดันความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลาย ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และอัตราค่าจ้างที่เร่งตัว จะยังหนุนให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้ในระยะกลาง

ที่ประเทศสหรัฐฯ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ (10-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25-2.50% ตามที่คาด และส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน โดยระบุว่าจะรอประเมินพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน รวมถึงเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายและนโยบายด้านงบดุล นอกจากนี้ Fed ยังระบุว่าพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนขนาดและสัดส่วนสินทรัพย์ต่างๆ ในงบดุล ในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอลงมากกว่าที่คาดและส่งผลให้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ นาย Jerome Powell ประธาน Fed กล่าวหลังการประชุมว่าแม้ตอนนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงแข็งแกร่ง แต่เศรษฐกิจจีนและยุโรปที่ชะลอลง ความไม่แน่นอนของ Brexit การเจรจาการค้า รวมถึง Government Shutdown ที่กินระยะเวลา 5 สัปดาห์ ก็ได้ส่งผลให้สภาวะทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอน ซึ่งนาย Powell กล่าวว่า ควรรอให้สภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีความชัดเจนมากขึ้นก่อน ด้านการปรับลดขนาดงบดุล นาย Powell กล่าวว่าการลดขนาดงบดุลอาจสิ้นสุดเร็วกว่าที่คาด โดยที่งบดุลจะมีขนาดใหญ่กว่าที่เคยประเมินไว้ในตอนแรก เพื่อหนุนสภาพคล่องในตลาดการเงิน

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 20.47 พันล้านบาท แต่ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 13.03 พันล้านบาท เมื่อรวมกับพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้วเป็นการถือครองลดลงประมาณ 7.88 พันล้านบาท ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งเดือนหลัง ผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราผลตอบแทนปรับขึ้นมาแตะระดับที่ใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% โดยอัตราผลตอบแทนจากประมูลรุ่นอายุ 14 วันอยู่ระหว่าง 1.65-1.75% เฉลี่ย 1.71149%, รุ่นอายุ 91 วันอยู่ระหว่าง 1.72-1.74% เฉลี่ย 1.73557% และรุ่นอายุ 182 วันอยู่ระหว่าง 1.74-1.7760% เฉลี่ย 1.75736% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวกลับปรับลดลง 0.01-0.08% ตามทิศทางตลาดต่างประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยว่ามีโอกาสลดลง ตลอดจนความกังวลว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่เป็นไปตามคาด

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

thai-fixed-income-market-jan-2019