ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2562

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลดลงเล็กน้อย -0.90% จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นการเคลื่อนไหวในกรอบแคบ 1,610 – 1,650 จุด โดยปัจจัยที่ทำให้ตลาดค่อนข้างผันผวนในเดือนนี้ คือ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย ส่วนปัจจัยบวกจากต่างประเทศ ได้แก่ การชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการชะลอการลดขนาดงบดุลของ FED

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงในช่วงต้นเดือน จากระดับบริเวณ 1,655 ลงมาบริเวณ 1,620 ตลอดทั้งเดือน เนื่องจากนักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการคือ พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ได้จำนวนสส.แบบแบ่งเขตมากที่สุด และทางพรรคได้ออกมาประกาศว่าจะจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ในขณะที่เสียงสนับสนุนพรรคทั้งสองให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็มีความก่ำกึ่งกัน และ กกต.แถลงว่ามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากกว่า 200 เรื่อง ทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังมีอยู่สูง แม้จะผ่านช่วงการเลือกตั้งมาแล้ว

สำหรับประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากที่สหรัฐฯ เลื่อนวันประกาศใช้อัตราภาษีที่เก็บเพิ่มจากสินค้าจากขึ้นจาก 10% เป็น 25% ออกไป และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการเจรจา โดยมีโอกาสสูงที่ทั้งสองประเทศจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ภายในสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นข่าวดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

นอกจากนี้ การประชุม FOMC ในวันที่ 19 – 20 มีนาคม ที่ผ่านมา FED มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม และส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ (จากเดิมคาดขึ้น 2 ครั้ง) และคงมุมมองปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งในปี 2563 อีกทั้งยังส่งสัญญาณจะชะลอการปรับลดงบดุลในเดือนพฤษภาคม จาก 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เหลือ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และจะยุติการปรับลดงบดุลในเดือนกันยายน 2562 ซึ่งเป็นการสะท้อนการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เป็นสัญญาณบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การที่ตัวเลขเศรษฐกิจออกชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.43% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 15 เดือน และได้ปรับลดลงมาต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ซึ่งทางเศรษฐศาสตร์เรียกภาวะนี้เรียกว่า “Inverted Yield Curve” ที่มักเกิดก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เกิดความกังวลมากในหมู่นักลงทุน ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง

ในฝั่งยุโรปนั้น วันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา รัฐสภาอังกฤษมีมติโหวตไม่ผ่านข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เป็นครั้งที่ 3 ทำให้นางเทเรเซ่า เมย์ ต้องกลับไปคุยกับ EU ในวันที่ 12 เมษายนนี้ เพื่อกำหนดข้อตกลงใหม่ แต่หากไม่สามารถเจรจากันได้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่อังกฤษจะต้องออกจาก EU โดยไม่มีข้อตกลง (No Deal Brexit) ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อทั้งประเทศอังกฤษและ EU ที่นักลงทุนควรติดตามอย่างใกล้ชิด

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,638.65 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,653.48 จุด หรือประมาณ -0.90% จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ +6.2% กลุ่มการแพทย์ +3.2% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +2.6% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -7.6% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -3.5% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -3.1% ในเดือนมีนาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 16,397 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศมียอดซื้อสุทธิ 5,719 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มการลงทุนนั้น คาดว่าจะมี Fund Flow ไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่มากขึ้น ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้สำเร็จ แม้ว่าอาจจะไม่มั่นใจว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้จะอยู่ได้นานเพียงไร แต่สิ่งหนึ่งที่ทางคสช. ได้ทำไว้ คือ การมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่แม้ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ยังคงต้องเดินหน้าแผนปฏิบัติการที่ได้ระบุไว้ ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมสู่ยุค 4.0 เป็นต้น ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์ชาตินี้น่าจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยยังเติบโตต่อเนื่องได้ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า รวมถึงรัฐบาลใหม่มีแนวโน้มที่จะเร่งออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนระยะสั้นมากขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยเร่งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยยังคงน่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยกองทุนยังคงเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตดี และมีมูลค่าที่เหมาะสม