ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – เมษายน 2562

ในเดือนนี้ตลาดสหรัฐฯ มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สะท้อนว่าตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ได้แก่ การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น +1.96 แสนราย ดีกว่าตลาดคาดไว้ที่ +1.77 แสนราย ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำที่ 3.8% เท่ากับเดือนก่อนและเท่ากับที่ตลาดคาด ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้น +0.1% MoM แต่ต่ำกว่าตลาดคาดไว้ที่ +0.3% MoM และเดือนก่อนที่ +0.4% MoM ส่งผลให้เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ค่าจ้างชะลอตัวลงเป็น +3.2% YoY นอกจากนี้ในช่วงปลายเดือน มีการประกาศ GDP ไตรมาส 1/2019 ในเบื้องต้นว่าขยายตัว +3.2% เร่งขึ้นจาก +2.2% ในไตรมาสก่อน และสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้อย่างมากที่ +2.3% อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีกว่าคาดในไตรมาสนี้ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง และยอดส่งออกสุทธิ เป็นสำคัญ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้

ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายการเงินเดิมตามคาด และย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4%) จะคงอยู่ที่ระดับต่ำนี้ยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย และจะซื้อคืนพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุ (Reinvest) ต่อไปจนกว่าอัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย นาย Mario Draghi ประธาน ECB กล่าวว่าโมเมนตัมทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงและเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงต่อจากนี้ ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อในระยะข้างหน้า (เงินเฟ้อเดือน มี.ค. ขยายตัว 1.4% YoY ยังห่างไกลจากเป้า 2% ค่อนข้างมาก) ซึ่งนาย Draghi ยังคงย้ำว่า ECB พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่เพื่อหนุนเศรษฐกิจและให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเข้าสู่เป้าหมายที่ 2%

ในการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BOJ ยังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเดิมตามที่ตลาดคาด ได้แก่ คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserves) บางส่วน, คงเป้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control) ไว้ที่ “ประมาณ 0%” และคงอัตราเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี BOJ ยังคงย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและยาวจะคงอยู่ที่ระดับต่ำนี้ต่อไปอีกจนถึงกลางปี 2020 เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ BOJ ยังได้ปรับเปลี่ยนมาตรการบางส่วนเล็กน้อยในเชิงเทคนิคเพื่อสนับสนุนให้สามารถใช้นโยบายที่ผ่อนคลายต่อไปได้ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจ BOJ ได้ออกประมาณการเงินเฟ้อไม่นับรวมอาหารสด (Core CPI) ของปีงบประมาณปี 2021 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 1.6% YoY ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% และปรับลดคาดการณ์ GDP ของปีงบประมาณ 2019 และ 2020 ลง -0.1ppt เป็น 0.8% YoY และ 0.9% YoY ตามลำดับ

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นประมาณ 9 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวประมาณ 8.8 พันล้านบาท เมื่อรวมกับพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้วเป็นการถือครองลดลงประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท และเป็นการถือครองลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสรุปนักลงทุนต่างชาติลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนเม.ย. คงเหลือ 9.29 แสนล้านบาท ลดลงจาก ณ สิ้นปี 2018 ที่ 9.86 แสนล้านบาท ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก มีเพียงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2-5 Bps ส่วนการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 14 วัน ถึง 6 เดือน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจากการประมูล มีทิศทางปรับขึ้นมาแตะระดับ 1.70% โดยในสัปดาห์สุดท้ายอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วันอยู่ที่ 1.7053%, 3 เดือนที่ 1.7085% และ 6 เดือนที่ 1.7658%

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

blog_190506_01