ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น +2.13% จากสิ้นเดือนมีนาคม 2562 โดยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน ปัจจัยที่ทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นในรอบนี้ ได้แก่ การปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน และไม่มีปัจจัยลบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีนที่เริ่มมีแนวโน้มคลี่คลาย
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นเดือน จากระดับบริเวณ 1,627 จุด และขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 1,684 จุด ก่อนจะปรับตัวลงมาบริเวณ 1,674 จุดในปลายเดือน นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มพลังงาน หลังจากสหรัฐฯ ประกาศให้ทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง ยกเลิกการนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศอิหร่านภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 กอปรกับการเกิดความไม่สงบในประเทศลิเบีย และการลดการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศเวเนซุเอลา ทำให้ความกังวลด้าน Oversupply ของน้ำมันดิบลดลง จึงทำให้ราคาน้ำมันให้ปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวขึ้น 5.37% ในเดือนเมษายน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ตลาดมีปัจจัยลบเล็กน้อยเนื่องจากทาง IMF ได้ออกมาปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP โลกปี 2562 ลงเหลือ 3.3% จากเดิม 3.5% ในเดือนมกราคม และเป็นการปรับลดครั้งที่ 3 ในรอบ 6 เดือน ส่วนการเติบโตของจีดีพีในปี 2563 ยังคงประมาณการเดิม โดยประเทศที่ถูกปรับลดการเติบโตมากที่สุด ได้แก่ ประเทศเยอรมัน -0.5% จากเรื่องการปรับมาตรฐานการปล่อยก๊าซพิษจากรถยนต์ ที่กระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ ประเทศอิตาลี -0.5% จากปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง ประเทศอังกฤษ -0.3% จากการออกสหภาพยุโรปฯ ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป และสหรัฐอเมริกา -0.2% จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยุติการจ่ายงบประมาณ (Government Shutdown) ในเดือนมกราคม และการใช้จ่ายภาครัฐที่น้อยกว่าคาด ส่วนประเทศจีนถูกปรับขึ้น 0.1% จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลจีน แต่ SET Index ไม่ได้ปรับลงเท่าใดนัก และจะเห็นว่าการปรับลดการเติบโตของจีดีพีโลกของ IMF นั้น ส่วนใหญ่เป็นการลดในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้ยิ่งเป็นผลดีต่อประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูงกว่าและยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปีนี้และปีหน้า
ในช่วงกลางเดือน เป็นการประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งว่าหลาย ๆ ธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการตั้งสำรองผลประโยชน์เกษียณอายุพนักงานตามกฎหมายใหม่ และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้จากธุรกิจประกันที่ลดลงค่อนข้างมาก และยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในระยะอันใกล้นี้ แต่หากดูกำไรรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะพบว่ายังเติบโตได้ประมาณ 2% ทั้งนี้มาจากการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายธุรกิจเงินติดล้อของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 8.6 พันล้านบาท โดยรวมแล้ว ผลกำไรไม่ได้สร้างความผิดหวังหรือความยินดีให้กับนักลงทุน ราคาหุ้นธนาคารพาณิชย์จึงเคลื่อนไหวในกรอบแคบเท่านั้น
อีกปัจจัยที่อาจสนับสนุนตลาดในระยะอันใกล้ ได้แก่ การปรับเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนการลงทุนในหุ้นของดัชนี MSCI ในรอบเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ที่ให้นำหุ้น NDVR เข้ามารวมในการคำนวณน้ำหนักของดัชนีได้ ทำให้ตลาดหุ้นไทยถูกเพิ่มน้ำหนักการลงทุนจาก 2.3% เป็น 2.8% (รวมผลกระทบของการรวมดัชนี China A Share ซาอุดิอาระเบีย และอาร์เจนติน่าด้วยแล้ว) คิดเป็นวงเงินลงทุนรวม 7.6 หมื่นล้านบาทที่มีแนวโน้มไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยหลังการ Rebalance MSCI ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2562
สำหรับประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะยังถือเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก และมีกำหนดที่จะประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่ทั้งสองประเทศจะบรรลุข้อตกลงด้านการค้ากันได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะเป็นข่าวดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลก แต่หากไม่สามารถเจรจากันได้ จะถือเป็นความเสี่ยงต่อตลาดหุ้นในระยะถัดไป
สำหรับตลาดหุ้นไทยเอง แม้ว่าจะมีการปรับตัวขึ้นมาจากต้นปี แต่ SET Index บริเวณปัจจุบันที่ 1,674 จุด ยังให้ค่า PE ของตลาดในปี 2019 เท่ากับ 15.5 เท่า ซึ่งยังอยู่ในระดับไม่แพง อีกทั้งการถือครองหุ้นของต่างชาติ (รวม NVDR) ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 30% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2005 และภายในวันที่ 9 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และคาดว่าจะมีพรรคที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากและสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ตลาดหุ้นไทยจะปลดล็อคเรื่องความเสี่ยงทางการเมือง ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มจะพิจารณากลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง พร้อมกับ Fund Flow จาก MSCI Rebalance ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังคงน่าสนใจในระยะสั้นนี้ โดยกองทุนยังคงเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตดี และมีมูลค่าที่เหมาะสม