คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของประเทศสหรัฐฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ (10-0) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25-2.50% ตามที่คาด โดยรายงานการประชุมระบุว่า Fed มองเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้ดีและตลาดแรงงานแข็งแกร่ง ในขณะที่เงินเฟ้อขยายตัวในระดับ “ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2%” ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนที่ระบุว่าขยายตัว “ใกล้เป้าหมายที่ 2%” หลังจากเงินเฟ้อ Core PCE ล่าสุดเดือน มี.ค. ลดลงมาอยู่ที่ 1.6% YoY นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินที่ยังไม่แน่นอน ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่อ่อนแอ ทำให้ Fed รอประเมินสถานการณ์ในระยะข้างหน้าก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันยังมีความเหมาะสม ทั้งนี้ Fed ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Interest on Excess Reserves: IOER) ลง -5bps เป็น 2.35% เพื่อควบคุมไม่ให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน (Effective Fed Funds rate) ขยับเข้าใกล้กรอบบนของดอกเบี้ยนโยบายมากเกินไป ทางด้านนาย Jerome Powell ประธาน Fed กล่าวว่าเงินเฟ้อที่อ่อนแอในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวและไม่ได้ชี้ถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง นอกจากนี้ นาย Powell ระบุว่านโยบายการเงินตอนนี้มีความเหมาะสมและไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนในตอนนี้ และยังมองว่าตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดี จะหนุนให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ในระยะข้างหน้า
ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ตามคาด และย้ำว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายขึ้นอยู่กับผลการเจรจา Brexit โดยในการประชุมรอบนี้ BOE ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2019-2021 ขึ้นเป็น 1.5% YoY, 1.6% YoY และ 2.1% YoY ตามลำดับ จากการบริโภคเอกชนซึ่งได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ขณะที่ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2019-2020 ลงเป็น 1.6% YoY และ 2.0% YoY ตามลำดับจากราคาน้ำมันขายปลีก แต่ยังคงคาดเงินเฟ้อปี 2021 ที่ 2.1% YoY นอกจากนี้ หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็มีความเหมาะสม เพื่อให้เงินเฟ้อขยายตัวที่เป้าหมาย 2% โดย BOE จะทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ พัฒนาการทางเศรษฐกิจนั้น ยังคงขึ้นอยู่กับผลการเจรจา Brexit ว่าจะออกมาในรูปแบบใด นาย Mark Carney ผู้ว่าการ BOE ระบุว่าหากรัฐบาลสามารถได้ข้อตกลง Brexit และออกจาก EU ไปแบบราบรื่น อัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มที่จะต้องปรับเพิ่มขึ้น และอาจปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ตามที่ตลาดคาด โดยกนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกและการลงทุน อย่างไรก็ดี คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังได้รับแรงกดดันจากการจ้างงานในภาคก่อสร้างและภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่เริ่มทรงตัว กนง. มีความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ ดังนั้นมาตรการดูแลเสถียรภาพทางการเงินในระยะถัดไปจะต้องให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP ไตรมาส 1/2019 ชะลอตัวลงเป็น +2.8% YoY เท่ากับที่ตลาดคาด จาก +3.6% YoY ในไตรมาสก่อน โดยเศรษฐกิจได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เงินบาทที่แข็งค่า และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวดี นำโดยการบริโภคเอกชน (+4.6% YoY) และการลงทุนภาคเอกชน (+4.4% YoY) อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐยังคงอ่อนแอ (-0.1% YoY) ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB) ปรับลดเป้า GDP ปี 2019 ลงเป็น 3.3-3.8% (จากเดิมที่ 3.5-4.5%)
สำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทย ในเดือนนี้เป็นเดือนแรกนับตั้งแต่ต้นปีที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทย แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.03 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 8.6 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการซื้อสุทธิ 1.34 หมื่นล้านบาท หรือถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย 9.37 แสนล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าการถือครอง ณ สิ้นปีที่ผ่านมาที่ 9.86 แสนล้านบาท ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือนนี้ได้รับอิทธิพลจากการปรับลดลงอย่างมากของ US Treasury Yield จากความกังวลสงครามการค้าและความผันผวนของตลาดหุ้น โดยทางฝั่งสหรัฐฯ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลงมา 6-32 Bps โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาวมีการปรับลดลงมากกว่าพันธบัตรระยะสั้น ส่วนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุไม่เกิน 1 ปีปรับขึ้น 1-5Bps ในขณะที่พันธบัตรระยะยาวอายุ 5 ปีขึ้นไปปรับลดลงตามตลาดต่างประเทศ 6-17Bps
ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ