ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2562

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลดลง -3.2% จากสิ้นเดือนเมษายน 2562 โดยปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน จากปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ต่ำกว่าคาด การทวีความรุนแรงขึ้นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และราคาน้ำมันปรับตัวลดลง

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากบริเวณ 1,679 จุด ลงมาทำจุดต่ำสุดบริเวณ 1,602 จุดในช่วงกลางเดือน จากการทยอยประกาศงบกำไรขาดทุนของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าคาด โดยกำไรในไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียนรวมอยู่ที่ 2.53 แสนล้านบาท คิดเป็นการลดลง -9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 แต่เพิ่มขึ้น 73% จากไตรมาส 4 ปี 2561 โดยกลุ่มธุรกิจที่ยังมีกำไรเติบโตจากปีที่แล้ว ได้แก่ กลุ่มการแพทย์ กลุ่มธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ กลุ่มธุรกิจอาหารและการเกษตร กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น จากตัวเลขกำไรที่ประกาศออกมา ทำให้นักวิเคราะห์มีการปรับลดประมาณกำไรสุทธิของปี 2562 ลงเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นผลให้กำไรต่อหุ้นของตลาดถูกปรับลดลงประมาณ 6-7% เป็นสาเหตุให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรง

เมื่อพิจารณาตามรายกลุ่มธุรกิจ กลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้วคือ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่เติบโตถึง 182% จากไตรมาส 1 ปีที่แล้ว ตามความคืบหน้าที่เพิ่มขึ้นของงานในมือ ทั้งงานเอกชนและภาครัฐ รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ชมพู น้ำเงิน และส้ม ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากงานรถไฟฟ้าให้อัตรากำไรค่อนข้างดี แม้บางบริษัทมีการบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองการจ่ายชดเชยพนักงาน แต่กำไรรวมของกลุ่มก็ยังเติบโตได้ดี

กลุ่มธุรกิจการแพทย์มีกำไรรวมเติบโตดี เพิ่มขึ้น 83% จากไตรมาส 1 ปี 2561 เนื่องจาก BDMS มีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนในหุ้น RAM เป็นจำนวนกว่า 6 พันล้านบาท หากไม่รวมรายการนี้ กำไรรวมของกลุ่มเติบโตได้เล็กน้อยจากปีที่แล้ว แต่แนวโน้มของหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลยังไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องการออกกฎหมายควบคุมราคายา ซึ่งจะกระทบการทำกำไรของกลุ่มโรงพยาบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกกลุ่มหนึ่งที่กำไรเติบโตได้ดีจากรายการพิเศษนั่นคือ กลุ่มโทรคมนาคม จากการที่ TRUE มีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนและการตีมูลค่าสินทรัพย์ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) เป็นจำนวนกว่า 1.1 พันล้านบาท

อีกกลุ่มหนึ่งที่กำไรออกมาค่อนข้างดี คือ กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีกำไรเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2561 กว่า 60% เนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบการเร่งยอดโอนให้ทันภายในไตรมาสแรกของปีนี้ หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้วงเงินต่อหลักประกัน (Loan-to-Value: LTV) ต่ำกว่า 95% สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังที่สองขึ้นไป หรือต่ำกว่า 80% สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านที่มีราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท เป็นต้น ทำให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคต่างเร่งการโอน ก่อนการประกาศใช้มาตรการนี้วันที่ 1 เมษายน 2019 แต่หากมองภาพยอดขายล่วงหน้า (Presales) พบว่าลดลงประมาณ 9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งระบายสต็อกเก่า จึงชะลอการเปิดโครงการใหม่ รวมทั้งผู้บริโภคก็ตัดสินใจซื้อยากขึ้น แนวโน้มของกำไรในกลุ่มนี้ในภาพระยะกลางยังมีโอกาสผันผวนจากมาตรการ LTV บ้าง แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ค่อนข้างสูง

จากนั้นในช่วงปลายเดือน พัฒนาการของสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นไปในทิศทางที่แย่ลง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติม วงเงิน 2 แสนล้านเหรียญจากระดับ 10% เป็นระดับ 25% และประกาศห้ามบริษัทสัญชาติอเมริกันใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ผลิตโดยบริษัทที่ก่อความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ เช่น บริษัท Huawei ของจีน ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการยุติการสั่งซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ และประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ วงเงิน 6 หมื่นล้านเหรียญ จากระดับ 10% เป็นระดับ 25% อีกทั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีการเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตแร่ Rare Earth ในประเทศจีน ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแม่เหล็ก ชิป ไมโครชิป และอุปกรณ์ที่ใช้ในสินค้า High Technology ต่าง ๆ โดยจีนเป็นผู้ผลิตแร่ Rare Earth เกือบ 90% ของอุปทานทั้งหมดในตลาดโลก เป็นการส่งสัญญาณข่มขู่สหรัฐฯ ทำให้ในท้ายสุด ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ขยายระยะเวลาการแบน Huawai ออกไป 90 วัน อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้ได้จุดชนวนให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าเกี่ยวกับสินค้าเทคโนโลยี (Tech War) ขึ้น หุ้นในกลุ่มไอทีในจีนและสหรัฐฯ ปรับลดลงรุนแรง เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าไอที

หุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันปรับตัวลงเช่นกัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดล่วงหน้าปรับตัวลดลงถึง -16.3% สู่ระดับ 53.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อันเนื่องมาจากความกังวลประเด็นสงครามการค้าจะกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน

ในช่วงปลายเดือน SET Index มีการฟื้นตัวเล็กน้อย จาก MSCI Rebalance ที่น้ำหนักของตลาดหุ้นไทยในดัชนี MSCI Emerging Markets ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.3% เป็น 2.8% ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2 แสนล้านบาทในวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 และน่าจะยังมีเม็ดเงินไหลเข้าต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง จากการปรับ Port การลงทุนของกองทุนต่าง ๆ ที่ใช้ MSCI Index เป็น Benchmark

สำหรับการเมืองในประเทศ เริ่มมีความชัดเจนขึ้นหลังจากมีการเปิดประชุมสภา และมีมติเลือกประธานสภาเป็นนายชวน หลีกภัย โดยมีแนวโน้มสูงที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำรัฐบาล ซึ่งหากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะทำให้โครงการต่าง ๆ ของรัฐขับเคลื่อนต่อไปได้ และเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,620.22 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,676.60 จุด หรือประมาณ -3.2% จากสิ้นเดือนเมษายน 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม +2.3% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -0.2% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -0.5% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -17.5% กลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการ -13.3% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -5.9% ในเดือนพฤษภาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 3,672 ล้านบาท โดยในวันที่ 28 พฤษภาคมมีการซื้อสุทธิสูงถึง 12,535 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 15,549 ล้านบาท