ภาวะตลาดหุ้นไทย – สิงหาคม 2562

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -3.3% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 จากการปรับลดกำไรของบริษัทจดทะเบียน และแรงกดดันภายนอกเรื่องประเด็นสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น และการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม เป็นฤดูกาลประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 ซึ่งส่วนใหญ่ออกมาลดลงค่อนข้างมาก กำไรสุทธิรวมของตลาดอยู่ที่ 2.14 แสนล้านบาท ลดลง -17% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2018 และลดลง -21% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ในขณะที่มีกลุ่มธุรกิจที่ผลกำไรยังเติบโตขึ้นจากปีที่แล้วเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น เช่น กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ เป็นต้น กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ล้วนมีกำไรสุทธิลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งสำรองผลประโยชน์ของพนักงานเพิ่มขึ้นตามกฎหมายจาก 300 วันเป็น 400 วัน และอีกส่วนมาจากตัวธุรกิจหลักเอง เช่น การลดลงของราคาน้ำมันดิบและปิโตรเคมีทำให้เกิดขาดทุนจากสินค้าคงคลัง การขาดทุนค่าเงินของบริษัทในกลุ่มส่งออกจากเงินบาทที่แข็งค่า และการชะลอตัวลงของยอดโอนอสังหาริมทรัพย์หลังมีการใช้มาตรการ LTV เป็นต้น ทำให้นักวิเคราะห์ปรับลดการคาดการณ์กำไรสุทธิของตลาดในปีนี้ลง จากเดิม ประเมินกำไรต่อหุ้นของตลาดอยู่ที่ระดับ 104 บาท ลดลงมาอยู่บริเวณ 100 -101 บาท จึงทำให้อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิในปี 2019 ลดลงเหลือเพียง 2 - 3% เท่านั้น

และในวันที่ 19 สิงหาคม ได้มีการประกาศตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 ของไทย ที่มีการเติบโตเพียง 2.3% ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่เติบโต 2.8% คิดเป็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่ 2.6% โดยภาคการส่งออกสินค้าและบริการหดตัว -6.1% จากปีที่แล้ว ผลผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรหดตัว ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แม้จะยังเติบโตเป็นบวก แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่แล้ว ทำให้สภาพัฒน์ฯปรับลดประมาณการการเติบโตของจีดีพีลงอีกครั้ง จาก 3.3 - 3.8% มาอยู่ที่ 2.7 - 3.2%

ยิ่งไปกว่านั้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากทั้งสองฝ่ายตอบโต้กันด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้า โดยประธานาธิบดีทรัมป์ เตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญ ในอัตรา 15% โดยแบ่งเป็น 1.3 แสนล้านเหรียญ มีผลบังคับในวันที่ 1 กันยายน และอีก 1.6 แสนล้านเหรียญให้มีผลบังคับในวันที่ 15 ธันวาคม ในขณะที่ทางจีนจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เช่นกัน โดยมีมูลค่า 7.5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ในอัตรา 5 – 10% โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน มีผลบังคับในวันที่ 1 กันยายน และ 15 ธันวาคม เช่นเดียวกัน ซึ่งการตอบโต้ระหว่างกันดังกล่าว ส่งผลกระทบเป็นลบต่อทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่กระทบทั้งผู้บริโภคที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น และเกษตรกรที่ส่งออกผลผลิตไปยังจีนได้ลดน้อยลง

SET Index ปรับตัวลดลงจากปัจจัยข้างต้น ลงสู่ระดับต่ำสุดของเดือนที่ 1,590 จุด และค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2019 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.0 - 2.25% ส่วนประเทศจีนนั้น ธนาคารกลางจีนผ่อนคลายนโยบายการเงินเช่นกัน โดยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงจาก 4.35% ลงเหลือ 4.25% ในฝั่งยุโรป รัฐบาลเยอรมันมีการประกาศพร้อมใช้วงเงิน 55 พันล้านยูโรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้น เพียง 1 สัปดาห์หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เช่นกัน ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยที่อยู่เหนือความคาดหมาย ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% ประกอบกับในวันที่ 16 สิงหาคม รัฐบาลได้มีการเสนอมาตรการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งโดยการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน มาตรการส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อ SME มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน เช่น การแจกเงินเพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดที่ตัวเองไม่ได้อยู่ การเพิ่มวงเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น คิดเป็นวงเงิน 3.16 แสนล้านบาทที่พร้อมอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ หลังจากนี้ไป คาดว่าเมื่อมาตรการทางการเงินและการคลังของแต่ละประเทศเริ่มทำงาน เศรษฐกิจน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นได้ และ SET Index น่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยยังต่ำและยังมีแนวโน้มปรับลดลงได้อีก ค่าพีอีที่เหมาะสมของตลาดหุ้นมักจะสูงขึ้น ค่าพีอีของ SET Index น่าจะยืนอยู่บริเวณ 16 -17 เท่าได้ในปีนี้และปีหน้า จากค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 15.3 เท่า ซึ่งคิดเป็นระดับดัชนีที่ 1,600 – 1,700 จุด และการที่ SET Index ปรับตัวลงค่อนข้างแรงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ในระยะสั้นน่าจะเห็นการรีบาวด์ของดัชนีได้ และในระยะกลาง หากกำไรสุทธิของตลาดไม่มีการถูกปรับลดลงอย่างรุนแรง ตลาดหุ้นน่าจะยังปรับตัวขึ้นได้ต่อไป

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนสิงหาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,654.92 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,711.97 จุด หรือประมาณ -3.3% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร +4.5% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +1.1% และกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร -1.3%ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -15.2% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -10.8% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ -8.3% ในเดือนสิงหาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 54,274 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 35,596 ล้านบาท