ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (กันยายน 2562)

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ลง -10bps เป็น -0.5% ตามที่ตลาดคาด และคงอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Rate ที่ 0.0% และอัตราดอกเบี้ย Marginal Lending Rate ที่ 0.25% โดยระบุว่าอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับนี้หรือต่ำกว่า “จนกว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวเข้าสู่เป้าหมายที่ 2%” ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากการประชุมรอบก่อนที่ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังไม่ปรับเพิ่มขึ้น “จนกว่าจะถึงกลางปี 2020 เป็นอย่างน้อย” นอกจากนี้ ECB ได้ประกาศจะกลับมาใช้มาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์หรือทำ QE อีกครั้ง โดยจะเข้าซื้อที่อัตรา EUR20bn ต่อเดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. โดยยังไม่กำหนดเวลาสิ้นสุดของมาตรการที่ชัดเจน แต่ระบุเพียงว่าจะเข้าซื้อจนกว่าคาดการณ์เงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ซึ่งเป็นจุดเดียวกับที่อัตราดอกเบี้ยจะสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ และระบุว่าจะยังคงทำการซื้อคืนพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุต่อไป จนกว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นอย่างน้อยเพื่อหนุนสภาพคล่องในระบบ โดยประธาน ECB กล่าวว่าเศรษฐกิจของกลุ่มส่งสัญญาณอ่อนแอลงกว่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ จากผลกระทบของการค้าโลกที่ชะลอลงมากเป็นสำคัญ ในการประชุมรอบนี้ ECB ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลง -0.1ppt เป็น 1.1% และของปี 2020 ลง -0.2ppt เป็น 1.2% และปรับลดประมาณการเงินเฟ้อปีนี้ลง -0.1ppt เป็น 1.2% และของปี 2020 ลง -0.4ppt เป็น 1.0% ซึ่งการปรับลดดังกล่าวเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ ECB ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในครั้งนี้

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติ 7-3 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Federal funds rate) ลง 25bps เป็น 1.75%-2.00% ตามที่ตลาดคาด ซึ่งนับเป็นการลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งแรกในการประชุมปลายเดือน ก.ค.) ท่ามกลางพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกและแรงกดดันเงินเฟ้อที่อ่อนแอ สำหรับคาดการณ์ดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ค่ากลาง Dot plot ล่าสุดชี้ว่า Fed มองดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับปัจจุบัน (1.75%-2.00%) ไปจนถึงสิ้นปี 2020 อย่างไรก็ดี มีคณะกรรมการ 7 จากทั้งหมด 17 ท่าน ที่มองว่า Fed ควรลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในปีนี้ ขณะที่คณะกรรมการ 5 ท่านมองว่าควรปรับขึ้นดอกเบี้ย และอีก 5 ท่านมองว่าควรคงดอกเบี้ย ในการประชุมรอบนี้ Fed ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขึ้นเล็กน้อย +0.1ppt เป็น 2.2% ขณะที่คงปี 2020 ไว้ที่ 2.0% โดย Fed มองการบริโภคภาคเอกชนเร่งตัวขึ้นแข็งแกร่ง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและส่งออกอ่อนแอลงต่อ ส่วนเงินเฟ้อ Fed คงคาดการณ์เงินเฟ้อ Core PCE ปีนี้และปี 2020 ไว้ที่ 1.8% และ 1.9% ตามลำดับ สะท้อนเงินเฟ้อที่จะยังขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% นอกจากนี้ Fed ปรับเพิ่มอัตราการว่างงานปีนี้ขึ้น +0.1ppt เป็น 3.7% นอกจากนี้ ประธาน Fed กล่าวว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีต่อท่ามกลางความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอและนโยบายกีดกันการค้า ขณะที่แถลงการณ์การประชุมย้ำว่า Fed จะดำเนินนโยบายการเงินอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ มีการปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลดลงเหลือ 2.8% และปีหน้าลงเหลือ 3.3% จากการชะลอตัวตามภาคการส่งออกที่หดตัว กนง. ยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง รวมถึงความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ยังคงไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนต่อมุมมองอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม กนง.ระบุพร้อมที่จะพิจารณาใช้นโยบายทางการเงินเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น ในขณะเดียวกัน ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปีนี้ที่ 0.8% ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-4% จากราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ลดลง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นโดยเฉพาะช่วงอายุไม่เกิน 6 เดือนปรับลดลงมา คาดว่าเกิดจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ลงทุนประเภทกองทุนรวมที่ได้เริ่มเสียภาษีจากการลงทุนในตราสารหนี้ในเดือนส.ค. ที่ผ่านมา ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และเป็นการขายสุทธิต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า แบ่งเป็นการขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 1.3 พันล้านบาท และ 9 พันล้านบาท ตามลำดับ เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุแล้วคงเหลือยอดรวมถือครองสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ 9.23 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงจากสิ้นปี 2018 ที่ถือครองจำนวน 9.86 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

blog_191004_04