ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2562

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -0.68% จากสิ้นเดือนตุลาคม 2562 เป็นการแกว่งตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ ในขณะที่ประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังถูกปรับลดลง

ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในช่วงต้นเดือน จากการที่นักลงทุนคาดหวังการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งผลการประชุมในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากความกังวลด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำกว่าคาด SET Index มีการตอบรับในเชิงบวกระยะสั้น และเริ่มปรับลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3

กำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 ที่ประกาศออกมานั้น มีกำไรสุทธิรวม 2.13 แสนล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาส 2 แต่ลดลง 18% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ในปีที่แล้ว หากรวมกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของปีนี้ จะอยู่ที่ 6.83 แสนล้านบาท ลดลง 15% จากปี 2018 โดยกลุ่มที่กำไรเติบโตสูง ได้แก่ กลุ่มสื่อสาร อาหาร และเงินทุนหลักทรัพย์ ส่วนกำไรลดลงมาก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีมูลค่าตลาดสูง จึงเป็นตัวฉุดกำไรของตลาด ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาด (SET EPS) ในปี 2019 ลดลงมาอยู่ที่ 94.5 บาท และในปี 2020 อยู่ที่ 105.2 บาท คิดเป็นการติดลบจากปีที่แล้ว -3.2% และฟื้นตัว 11% ในปีหน้า นอกจากนี้ ทางสภาพัฒน์ได้ประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP ในไตรมาส 3 ของไทยออกมาอยู่ที่ 2.4% ดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.3% แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.6% มีเพียงภาคบริการที่เติบโตค่อนข้างดี (+11%) ส่วนภาคการส่งออกและนำเข้ายังหดตัว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้เล็กน้อย (+2.8%) ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว (-1.5%) ทำให้สภาพัฒน์มีการปรับลดการประมาณการการเติบโตของ GDP ทั้งปีนี้ลง จากเดิม 2.7-3.2% มาอยู่ที่ 2.6% อัตราการเติบโตชะลอตัวลงจากปี 2018 ที่ 4.1%

ทั้งตัวเลขกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนและตัวเลข GDP ที่ออกมานั้น เป็นสิ่งยืนยันการชะลอตัวเศรษฐกิจของไทย และเป็นปัจจัยกดดัน SET Index ตั้งแต่กลางปี โดยดัชนีปรับลดลงจากจุดสูงสุดบริเวณ 1,740 จุดในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1,600 จุดในปัจจุบัน ซึ่งคิดเป็นการปรับลดลงถึง 8% ในเวลาเพียง 4 เดือน ปัจจัยเสี่ยงของตลาดหุ้นในเวลานี้ นอกจากจะมีปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ความขัดแย้งในฮ่องกง หรือการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษแล้ว ปัจจัยหลักคือ ความกังวลการปรับลดลงต่อเนื่องของ SET EPS นั่นเอง

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ นักลงทุนจับตารอความชัดเจนประเด็นการค้า แม้สหรัฐฯ และจีนใกล้ที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าในเฟสแรก แต่การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามกฎหมายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง ทำให้อาจกระทบต่อการเจรจาการค้าได้ แต่ความกังวลด้านเศรษฐกิจโลกถดถอยเริ่มลดลง หลังตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐฯ ยูโรโซน สหราชอาณาจักร และ จีน เป็นต้น เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 SET Index ปิดที่ 1,590.59 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,601.49 จุด หรือประมาณ -0.68% จากสิ้นเดือนตุลาคม 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ +13.7% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ +10.5% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ +5.0% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่ม ICT -8.6% กลุ่มเกษตรและอาหาร -5.0% และกลุ่มธุรกิจบันเทิง -3.3% ในเดือนพฤศจิกายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 7,683 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2,585 ล้านบาท