ภาวะตลาดหุ้นไทย – กุมภาพันธ์ 2563

ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ได้สร้างความตื่นตระหนกต่อภาวะการลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อการระบาดเริ่มมีการกระจายไปยังภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากจีน ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงแรงในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน โดยดัชนี Dow Jones ปรับตัวลง 9.1% และ MSCI Euro ปรับตัวลง 8.7% เป็นต้น สำหรับประเทศไทยเอง SET Index ปรับตัวลง 10.3% ซึ่งนอกเหนือจากการระบาดของ COVID-19 ในภูมิภาคอื่นแล้ว นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับการการเกิด Super Spreaders ในไทย เหมือนในเกาหลีใต้ เมื่อมีกรณีที่ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่ยอมแจ้งแก่สถานพยาบาลว่าไปเที่ยวประเทศที่มีความเสี่ยงกลับมาแล้วมีอาการไข้ ทำให้ SET Index ในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวลง 174 จุด หรือปรับตัวลงถึง 11.5%

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 SET Index ปิดที่ 1,340.52 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,514.14จุด หรือประมาณ -11.5% จากสิ้นเดือนมกราคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนติดลบน้อยที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -3.3% กลุ่ม ICT -4.5% และกลุ่มยานยนต์ -6.2% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -18.3% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -15.0% และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง -13.7% ในเดือนมกราคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 19,649 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 3,921 ล้านบาท

หากเทียบเคียงเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่ตลาดหุ้นตกลงรุนแรงในเวลา 1 เดือนในอดีตที่ผ่านมานั้น พบว่ามาจากการเกิดความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจใน 2 ลักษณะคือ 1) ภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ที่มีปัญหาเชื่อมต่อไปถึงการปิดสถาบันการเงิน เป็นเหตุการณ์ประเภท Demand Disruption หรือความต้องการหดหายยาวนานอันเนื่องมาจากการล่มสลายของภาวะเศรษฐกิจ และ 2) เหตุการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกระทันหันช่วงเวลาหนึ่ง (Event Risk) เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือการเกิดโรคระบาด เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประเภท Supply Disruption หรือไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการ หรือ Demand Disruption จะเกิดเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะการชะลอการใช้จ่าย ความแตกต่างของเหตุการณ์ใน 2 ลักษณะคือ ภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงรุนแรงและยาวนาน ใช้เวลาฟื้นตัวช้าและต้องรอตัวเลขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมาช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้น เนื่องจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจกินเวลานาน ในขณะที่การเกิดเหตุการณ์ในลักษณะหลัง ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงอย่างรุนแรงในช่วง 1-2 เดือนแรก และเมื่อเหตุการณ์มีแนวโน้มคลี่คลาย ตลาดหุ้นก็จะฟื้นตัวได้ค่อนข้างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอให้เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว

ภาวะตลาดหุ้นไทย-กุมภาพันธ์-2563

ตารางตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญที่หุ้นตกแรง

การระบาดของ COVID-19 ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ตลาดหุ้นมาเป็นระยะเวลาประมาณ 5 สัปดาห์แล้ว และในปัจจุบันปัญหาการระบาดในจีนเหมือนจะผ่านจุดที่ย่ำแย่ที่สุดไปแล้ว หลังจากที่รัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมการเดินทางประมาณ 3 สัปดาห์ (โดยทั่วไป COVID-19 ใช้เวลา 1-14 วันในการแสดงอาการ) ในญี่ปุ่น ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็เริ่มทรงตัวหลังจากการเริ่มระบาดอย่างรุนแรงและรัฐบาลได้พยายามเข้าควบคุมปัญหาประมาณ 3 สัปดาห์เช่นกัน ในขณะที่การระบาดที่รุนแรงในอิตาลี เกาหลีใต้ และอิหร่าน เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นและรัฐบาลเริ่มพยายามเข้าควบคุมปัญหาอย่างเต็มที่ประมาณ 1 สัปดาห์ ดังนั้น เรายังพอคาดหวังได้ว่าการระบาดที่เกิดขึ้นจะผ่านจุดสูงสุดใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า และเริ่มคลี่คลายมากขึ้นเมื่อเข้าช่วงหน้าร้อนของประเทศในเขตเหนือเส้นศูนย์สูตร ขณะเดียวกัน ทั่วโลกก็กำลังเร่งการวิจัยและทดลองยาต้าน/ยารักษาไวรัส COVID-19 ในขณะที่ Case การรักษาหายก็มีมากขึ้น ทำให้น่าจะเริ่มเห็นวิธีรักษา/ยารักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า

ปัญหาความตกต่ำของเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโรคระบาด จะมีความต่างจากเหตุการณ์ Supply Disruption ประเภทน้ำท่วม แผ่นดินไหว เพราะการเกิดโรคระบาดไม่มีการทำลายโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงสร้างการผลิต แต่เป็นการชะงักงันจากการหยุดการผลิตชั่วคราว ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย การฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่า หากมีการช่วยเหลือทางการเงินให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาเริ่มการผลิตได้ และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบ ซึ่งในภาวะปัจจุบัน รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกยังมีความพร้อมที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือผ่อนคลายสภาพคล่องทางการเงิน

สำหรับประเทศไทยเอง ในช่วงที่ผ่านมา เราประสบปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากหลายปัจจัย ได้แก่ ค่าเงินบาทแข็งค่าและปัญหาสงครามการค้า ที่ทำให้ภาคการส่งออกชะลอตัว ปัญหาภัยแล้ง ความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณปี 2563 และยังมาเจอปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กระทบภาคการท่องเที่ยวอย่างแรง ทำให้เราคาดว่าประเทศไทยอาจจะเกิด Technical Recession หรืออัตราการเติบโตของ GDP ติดลบ 2 ไตรมาสได้ในครึ่งแรกของปี 2563 นี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เราคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะดีขึ้นกว่าครึ่งแรกของปี 2563 มาก เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมามีการแนวโน้มคลี่คลายลง ไม่ว่าจะเป็นช่วงหลังการเกิดโรคระบาด ความต้องการสินค้าและบริการของโลกจะเพิ่มขึ้นมาก เพื่อชดเชยที่ขาดหายไปในช่วงการเกิดโรคระบาด เมื่อผนวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา ก็น่าจะทำให้การส่งออกของประเทศดีขึ้น ปัญหาภัยแล้งจะคลี่คลายลงเมื่อเข้าฤดูฝน และราคาสินค้าเกษตรไม่น่าจะตกต่ำเนื่องจากความต้องการที่มากขึ้นหลังโรคระบาด รัฐบาลสามารถใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่หลังการอนุมัติงบประมาณปี 2563 อัตราดอกเบี้ยต่ำลงและสภาพคล่องมากขึ้นจากการออกมาตรการยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาหลังจากปัญหาโรคระบาดคลี่คลายลง

ในช่วงที่ SET Index ปรับตัวลงมาถึงระดับปัจจุบัน บลจ.ทาลิสมองว่าเป็นโอกาสในการลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่าการถอดใจหนีออกจากตลาดหุ้น และเราสามาถเลือกลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในระดับราคาที่ถูกลงมากได้ ดังนั้น เราจึงใช้จังหวะนี้ในการปรับ Portfolio การลงทุน โดยย้ายการลงทุน (Switching) จากหุ้นที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่า ไปยังหุ้นที่ยังมีการเติบโตที่ดีและมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าหลังจากปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 คลี่คลายลง