ตลาดหุ้นยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง SET Index ปรับตัวลดลง 16% มาสู่ระดับ 1,125.86 จุด โดยปัจจัยที่ยังกดดันยังคงเป็นการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่รุนแรงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ โดยปัจจุบัน ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกเร่งตัวถึงกว่า 7 แสนราย และมียอดผู้เสียชีวิตรวมกว่า 3 หมื่นราย โดยศูนย์กลางการแพร่ระบาดได้ย้ายมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาด
ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มีการชะลอตัวลงค่อนข้างรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาธุรกิจรวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง สหรัฐอเมริกามีการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 2 ล้านล้านเหรียญ และ FED ปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 2 ครั้ง ครั้งแรก 50 bps ตามมาด้วยอีก 100 bps ทำให้ดอกเบี้ยปัจจุบันลงมาอยู่ที่ 0.0-0.25% พร้อมทั้งปล่อย QE แบบไม่จำกัดวงเงิน ฝั่งยุโรปเอง ทาง ECB ประกาศเพิ่มวงเงิน QE เป็น 1.2 แสนล้านยูโรไปจนถึงสิ้นปีนี้ และประกาศซื้อหลักทรัพย์ของภาคเอกชนและภาครัฐวงเงินรวม 7.5 แสนล้านยูโร ส่วนอังกฤษ BOE ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 2 ครั้ง ครั้งแรก 0.5% ตามมาด้วย 0.15% สู่ระดับ 0.10% และเพิ่มวงเงิน QE อีก 2 แสนล้านปอนด์ สู่ระดับ 6.45 แสนล้านปอนด์ ทางฝั่งเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น ทาง BOJ เพิ่มวงเงินเข้าซื้อ ETF เป็น 12 ล้านเยนต่อปี และซื้อ JREIT เป็น 1.8 แสนล้านเยน รวมถึงเริ่มโครงการปล่อยเงินกู้ให้เอกชน ในอัตราดอกเบี้ย 0% อายุ 1 ปี ส่วนในประเทศจีน PBOC มีการปรับลด RRR ลด 0.5-1.0% เทียบเท่าการปล่อยสภาพคล่องกว่า 5.5 แสนล้านหยวนเข้าสู่ระบบการเงิน
สำหรับในไทยนั้น รัฐออกมาตรการปิดสถานที่ชุมนุมของคนจำนวนมากในกรุงเทพมหานครและบางจังหวัด อาทิ โรงเรียน โรงภาพยนตร์ สนามมวย ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึง 30 เมษายน 2563 พร้อมกับออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรค COVID-19 ได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ผ่านธนาคารออมสิน เป็นต้น ทั้ง กนง. ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.25% สู่ระดับ 0.75% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในประวัติการณ์ แต่ปรับลดการคาดการณ์ GDP ในปีนี้ลงสู่ระดับ -5.3%
ส่วนทางฝั่งน้ำมันดิบ กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตร่วมกันได้ ทำให้ทางซาอุดิอาระเบียปรับลดราคา Premium น้ำมันดิบลง เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาด ก่อให้เกิดสงครามราคาน้ำมันขึ้น ราคาน้ำมันดิบ Brent จึงปรับลดลงแรงมาสู่ระดับ 22.7 เหรียญต่อบาร์เรล เป็นการปรับลดลง 52.9% ภายใน 1 เดือน และมีแนวโน้มที่จะลงต่อ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อ และทางฝั่งผู้ผลิตน้ำมันยังไม่สามารถเจรจากันได้
สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,125.86 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,340.52จุด หรือประมาณ -16.0% จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนติดลบน้อยที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่ม ICT -2.2% กลุ่มพาณิชย์ -8.0% และกลุ่มประกัน -9.2% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -30.8% กลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ -29.6% และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ -23.7% ในเดือนมีนาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 78,404 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 42,335 ล้านบาท