SET Index ปรับตัวขึ้น 15.6% สู่ระดับ 1,301.66 จุด เป็นการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอบรับความคาดหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในหลายๆ ประเทศเริ่มจะควบคุมได้ และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลก
หลังจากที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มมาตรการ Lockdown ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นรายวันเริ่มมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ หากเทียบระหว่างช่วงต้นเดือนกับปลายเดือนเมษายน พบว่า สหรัฐอเมริกาฯ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นลดลงจาก 13% เป็น 4% อิตาลีลดลงจาก 5% เป็น 1% สเปนและเยอรมนี จาก 8% เป็น 1% รวมถึงประเทศไทยเองที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเหลือเพียงหลักหน่วยต่อวัน สะท้อนให้เห็นว่าชาติต่าง ๆ เริ่มรู้วิธีการรับมือกับเชื้อโรค และควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี หลายๆ ประเทศเริ่มเตรียมการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยทยอยให้ธุรกิจบางประเภทเริ่มกลับมาเปิดได้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง
ในขณะเดียวกัน ปริมาณเงินมหาศาลถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจทั้งสู่ประชาชนโดยตรงและผ่านการซื้อตราสารในตลาดทุน FED มีการประกาศอัดฉีด QE เข้าซื้อตราสารหนี้แบบไม่จำกัดวงเงินและไม่จำกัดเรตติ้ง เมื่อรวมกับมาตรการการคลังที่แจกเงินเข้าสู่มือประชาชนที่ตกงานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่าอีก 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การอัดฉีดชุดนี้ถือว่าออกมาได้รวดเร็วและเป็นการปล่อยกระสุนลูกใหญ่มากของสหรัฐอเมริกา ทางฝั่งเอเชียก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน สิงคโปร์อัดฉีดเงิน 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 11% ของ GDP ญี่ปุ่นวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบ 20% ของ GDP เป็นต้น
ทางด้านประเทศไทยนั้น BOT มีการประกาศให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการธุรกิจวงเงิน 5 แสนล้านบาท อีกทั้งยังประกาศเข้าซื้อตราสารทางการเงินของบริษัทเอกชนโดยตรง ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2563 และ 2564 ที่ไม่มีวงเงินจากสถาบันการเงิน หรือไม่สามารถออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้เดิมที่จะครบกำหนดได้ เป็นวงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท เพื่อเป็นการป้องกันบริษัทล้มละลายจากการขาดสภาพคล่องอย่างกระทันหันในภาวะวิกฤตินี้ ส่วนในฝั่งนโยบายการคลัง รัฐบาลได้มีการแจกเงินเยียวยารายละ 5,000 บาทเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดกิจการบางประเภท และเริ่มทยอยออกมาตรการเยียวยาลูกจ้างประเภทอื่น ๆ รวมถึงภาคเกษตร ในวงเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วโลกนี้ จึงส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุน และทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวในลักษณะ V-shape
ส่วนสถานการณ์น้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนรุนแรง แม้ว่ากลุ่ม OPEC+ สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่ยังคงไม่เพียงพอกับอุปสงค์ของน้ำมันที่หายไป จากการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางระหว่างประเทศ ประกอบกับคลังน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเมือง Cushing ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI จะเต็มความจุในไม่ช้า เนื่องจากน้ำมันในคลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในภาวะราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI สำหรับสัญญาเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลงแรงและปิดที่ระดับ -37.63 เหรียญต่อบาร์เรลในวันก่อนวันซื้อขายวันสุดท้าย จากการเร่งปิด Position ของผู้ถือสัญญา เนื่องจากไม่สามารถรับมอบน้ำมันได้
สรุปภาวะตลาดหุ้นไทยช่วงเดือนเมษายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,301.66 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,125.86จุด หรือประมาณ +15.6% จากสิ้นเดือนมีนาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ +35.6% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ +26.7% และกลุ่มปิโตรเคมี +26.4% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ +2.5% กลุ่ม ICT +2.6% และกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ +7.6% ในเดือนเมษายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 46,976 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 23,675 ล้านบาท