ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – เมษายน 2563

ในช่วงต้นเดือนธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ได้ประกาศมาตรการทางการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบของไวรัสต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเยียวยาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หลังจากยอดขอรับสวัสดิการการว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 6.6 ล้านคน ทำให้ยอดผู้ขอรับสวัสดิการสูงถึง 16.8 ล้านคนในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรายละเอียดของมาตรการดังกล่าวเป็นไปในแนวทางเดียวกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ได้ผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อแก่สถาบันการเงิน โดยอนุญาตให้นำสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลประเทศกรีซ สินเชื่อ SME และเงินกู้สกุลต่างประเทศมาค้ำประกันได้ ประเด็นดังกล่าวสะท้อนภาวะการเงินตึงตัวทั้งในตลาดการเงินและภาคธุรกิจที่รุนแรง ต่อมาในช่วงปลายเดือน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.00-0.25% และไม่ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ได้ให้คำมั่นว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินทุกอย่างที่มีเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่การระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ รวมถึงทั่วโลกหดตัวรุนแรง และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันต่อไปจนกว่าความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและประชาชนจะกลับมาในทิศทางที่เศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่เป้าหมายที่การจ้างงานเต็มที่และราคาสินค้าอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีใกล้ 0% พร้อมทั้งขยายมาตรการซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมให้เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ไม่จำกัด ขยายการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะยาวและระยะสั้น และพร้อมจะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น โดย BOJ ปรับประมาณการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นลงมาอยู่ที่ -5.0% ถึง -3.0% และคาดเงินเฟ้ออยู่ที่ -0.7% ถึง -0.3%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตช่วงปี 1930 โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 3% ในปี 2020 จากประมาณการเดิมในเดือนมกราคมที่มองว่าจะขยายตัว 3.3% และคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในปีถัดไปโดยขยายตัว 5.8% ในปี 2021 (ในกรณีเลวร้ายเศรษฐกิจโลกอาจหดตัวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหากการปิดเมืองยืดเยื้อเกินกว่าไตรมาสที่ 2 และการระบาดของไวรัสโคโรนายังมีอยู่บ้างในปี 2021) สำหรับเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว มีแนวโน้มหดตัว 6.1% โดยคาดเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัว 5.9% จากคาดการณ์รอบก่อนที่ +2% โดยประเมินว่าอัตราการว่างงานสหรัฐจะเพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 2019 มาที่ 10.4% ในปี 2020 และยังอยู่ในระดับสูงที่ 9.1% ในปี 2021 ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนคาดว่าจะหดตัว 7.5% โดยเศรษฐกิจจะอ่อนแอมากที่สุดในไตรมาสที่ 2 ขณะที่อัตราการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นจาก 7.6% ในปี 2019 มาอยู่ที่ 10.4% ในปีนี้และ 8.9% ในปีหน้า ด้านเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เอเชียคาดว่าจะขยายตัว 1% โดยประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ 1.2% ส่วนเศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัว 6.7% ในปีนี้ และจะกลับมาขยายตัวได้ถึง 6.1% ในปีหน้า

ทางด้านมาตรการด้านการเงินและการคลังของไทยในเดือนนี้ ได้มีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 จำนวน 3 ฉบับ เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เมษายน โดยแบ่งเป็น พ.ร.ก. ด้านการคลัง 1 ฉบับ และ พ.ร.ก. ด้านการเงิน 2 ฉบับ กล่าวคือ (1) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทภายในสิ้นปีงบประมาณ 2021 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และ (2) ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) มูลค่า 5 แสนล้านบาท และจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ (BSF) มูลค่า 4 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระชดเชยหนี้ส่วนหนึ่งหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ สะท้อนความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือตลาดตราสารหนี้ที่ภาครัฐประกาศออกมา และการคาดหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายต่อในการประชุมครั้งหน้า ทำให้ไม่มีกระแสนักลงทุนสถาบันขายพันธบัตรรัฐบาลออกมามากเท่าเดือนก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจึงปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลถึงอันดับเครดิตตราสารหนี้ภาคเอกชน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้หลายราย จึงทำให้อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ภาคเอกชนในตลาดรองปรับขึ้น ด้วยปริมาณการซื้อขายเบาบาง และทำให้ Credit Spread ของหุ้นกู้ภาคเอกชนในตลาดแรกหลายตัวที่เสนอขายในช่วงนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมาด้วย การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามของปี แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 919 ล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.7 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนเมษายนลดลง 1.9 หมื่นล้านบาท รวม 4 เดือนที่ผ่านมา ลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 1.15 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

Market-apirl-2020