ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2563

SET Index ปรับตัวขึ้น 3.2% สู่ระดับ 1,342.85 จุด เป็นการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนเมษายน บนความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน การกระตุ้นเศรษฐกิจของเหล่าธนาคารกลางทั่วโลก และความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากหลาย ๆ ประเทศเริ่มการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดโลกฟื้นตัว มาจากความคืบหน้าของวัคซีนต้าน COVID-19 หลังบริษัท Moderna Inc แถลงผลการทดลองทางคลินิก ซึ่งทำให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีที่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสในผู้ป่วย COVID-19 ได้ โดยเตรียมจะทดลองในขั้นต่อไปในเดือนกรกฎาคม เช่นเดียวกับบริษัท Novavax ที่เริ่มทดลองวัคซีนทางคลีนิกเฟส 1 แล้ว และคาดว่าจะรู้ผลในเดือนกรกฎาคมนี้ จึงเพิ่มความคาดหวังที่จะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดได้ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศที่ดีขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง ทำให้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพิ่มความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงถัดไป

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนกลับเพิ่มขึ้น หลังประธานาธิบดีทรัมป์ขู่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่ เนื่องจากจีนเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ประกอบกับการที่จีนผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง ทำให้สหรัฐฯไม่พอใจ และออกมาตรการตอบโต้ นอกจากนี้ วุฒิสภาสหรัฐฯมีมติผ่านร่างกฎหมาย "Holding Foreign Companies Accountable Act" ซึ่งอาจทำให้บริษัทจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯมีโอกาสถูกถอดออกจากตลาด และอาจทำให้บริษัทจีนจำนวนมากไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯได้ หากไม่สามารถทำตามมาตรฐานบัญชีของสหรัฐฯ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศสั่นคลอน เพิ่มความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก

สำหรับปัจจัยภายในประเทศไทยนั้น GDP ในไตรมาส 1 ประกาศออกมาที่ -1.8% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี แม้ว่าจะดีกว่าตัวเลขที่คาดไว้ที่ -4% โดยที่การบริโภคภาคเอกชนยังเติบโต 3% yoy จากแรงกักตุนซื้อสินค้าก่อนการ Lockdown และการส่งออกเติบโต 2% yoy ซึ่งหลักๆ มาจากการส่งออกทองคำและอาวุธ ในขณะที่องค์ประกอบอื่น ๆ ติดลบค่อนข้างมาก การบริการซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรค COVID-19 -29.8% yoy การลงทุนของเอกชน -5.5% yoy จากการหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง การลงทุนของภาครัฐ -9.3% yoy จากความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณ ส่วนภาคการผลิตการเกษตร -5.7% yoy จากภาวะภัยแล้ง

ตัวเลขกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาสที่ 1 ออกมาเติบโต -52.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว และ -42.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยกลุ่มที่รายงานการขาดทุนสูงคือ กลุ่มพลังงาน ที่บันทึกขาดทุนจากมูลค่าสินค้าคงคลัง อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงแรงในเดือนมีนาคม กลุ่มที่กำไรหดตัวรุนแรงรองลงมาคือ กลุ่มธุรกิจในภาคบริการที่กำไร -46.0% yoy และ -45.5% qoq โดยกลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการ และกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ (ไม่รวม THAI และ NOK ที่เลื่อนการประกาศงบการเงิน) พลิกเป็นขาดทุน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 1 ที่เหลือเพียง 6.7 ล้านคน คิดเป็น -38% yoy โดยนักท่องเที่ยวจีนลดลงประมาณ 60% yoy จากการปิดเมืองหลายเมืองในประเทศจีน และมาตรการ Lockdown ของไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ทำให้การเดินทางทั้งทางบกและทางอากาศหยุดชะงัก กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน กำไร -43.7% yoy และ -36.1% qoq จากผลกระทบต่อเนื่องของมาตรการควบคุม LTV ของธปท. ในปีที่แล้ว ผนวกกับกำลังซื้อในประเทศอ่อนตัว และผู้ประกอบการมีการออกโครงการใหม่ๆ น้อยลง ส่วนกลุ่มที่กำไรยังเติบโต ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เติบโต 8.7% yoy จากอานิสงส์ของเงินบาทอ่อนค่า และคำสั่งซื้อที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักในช่วงต้นปี กลุ่มอาหารกำไรยังเติบโตได้ดีจากราคาหมูและไก่ในต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น และได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่าเช่นกัน

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,342.85 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,301.66 จุด หรือประมาณ +3.2% จากสิ้นเดือนเมษายน 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร +46.4% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +16.0% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +6.9% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง -2.1% กลุ่ม ICT -0.3% และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง -0.2% ในเดือนเมษายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 31,598 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 17,838 ล้านบาท