ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤษภาคม 2563

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่มีมติ 7-2 คงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนรวมกันที่ GBP645bn และแถลงการณ์ระบุว่าอาจมีการเพิ่มวงเงิน QE ในการประชุมครั้งถัดไปในเดือน มิ.ย. ทางด้านเศรษฐกิจ BOE มองว่าประเมินได้ยาก เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ วิวัฒนาการของ COVID-19 และการตอบสนองของภาครัฐ ครัวเรือน ธุรกิจ และตลาดการเงิน โดยในกรณีฐาน (Base Case) BOE มองว่าเศรษฐกิจจะหดตัวแรงในช่วงครึ่งแรกของปี แต่จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ที่เริ่มในวันที่ 10 พ.ค. นอกจากนี้ BOE คาดว่า GDP ไตรมาส 2 ปี 2020 จะหดตัวแรง -25.0% QoQ และทั้งปีนี้จะหดตัว -14% YoY แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1706 อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นแรงเป็น 15% YoY ในปีหน้า ทางด้านเงินเฟ้อ คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยที่ 0.6% YoY ในปี 2020 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อย่างมาก จากการปรับลดลงแรงของราคาน้ำมันประกอบกับปริมาณความต้องการ (Demand) น้อย แต่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นและเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% ได้ในปี 2022 ด้านอัตราการว่างงาน BOE คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 8% ในปีนี้ แต่จะเป็นเพียงชั่วคราว จากนั้นอัตราการว่างงานจะทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4% ในปี 2022

นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ระบุในการเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบัน Peterson Institute for International Economics (PIIE) ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เผชิญความเสี่ยงรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนจากการระบาดของ COVID-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมยังมีความจำเป็น แต่ยังไม่เห็นความเหมาะสมในการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ นอกจากนี้ ยังได้ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจจะใช้เวลาสักระยะในการฟื้นตัว ซึ่งอาจทำให้ปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องในภาคธุรกิจลุกลามไปสู่การล้มละลายและการว่างงานถาวรจะเพิ่มขึ้นตามมา ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังเพิ่มเติมแม้จะมีมูลค่าสูง กล่าวคือหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นและการขาดดุลการคลังที่สูง แต่ยังมีความจำเป็นในการลดทอนผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวและหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาล่าสุด สะท้อนถึงผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงกว่าที่เคยประเมินกันไว้ โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่กว่า 20 ล้านรายต้องกลายเป็นผู้ว่างงาน อัตราการว่างงานในเดือนเม.ย. พุ่งขึ้นเป็น 14.7% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ก็ดูจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จากความกังวลต่อการกลับมาระบาดของไวรัส

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงาน GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 2020 หดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2014 ที่ -1.8% YoY จากที่ตลาดคาดว่า GDP จะหดตัวมากถึง -3.9% หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดย GDP หดตัว -2.2% QoQ sa (Seasonally Adjusted) จาก +0.2%QoQ sa ในไตรมาสก่อน โดยถือว่าหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -4.2%QoQ sa ทั้งปี 2020 สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวในช่วง -5.0% ถึง -6.0% จากประมาณการเดิมที่ +1.5 ถึง +2.5% โดยประเมินว่าภาครัฐจะมีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจถึง 15% ของ GDP

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในเดือนนี้ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยลดลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 0.50% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ ทำให้นับตั้งแต่ต้นปี กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยลงไปแล้วทั้งสิ้น 0.75% สาระสำคัญจากการประชุมคือ (1) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มหดตัวรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ (2) อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบกว่าที่คาด และ (3) เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้น จึงจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม สอดคล้องกับมาตรการทางการคลัง และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาก่อนหน้านี้ ส่วนคณะกรรมการ 3 ท่านที่เห็นค้าน สนับสนุนการคงดอกเบี้ย โดยมองว่าควรเร่งรัดประสิทธิภาพมาตรการทางการเงินและสินเชื่อที่บังคับใช้ไปแล้ว รวมทั้งเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยส่วนใหญ่ปรับลดลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าตามความคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวในช่วงอายุ 10-20 ปีกลับเพิ่มขึ้น คาดว่าเป็นผลจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากการจัดประมูลในเดือนนี้ การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ของปี แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.06 พันล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 7.94 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนพฤษภาคมลดลง 1.08 หมื่นล้านบาท คงเหลือการถือครองประมาณ 7.97 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

thai-fixed-income-market-may-2020-image