ภาวะตลาดหุ้นไทย – มิถุนายน 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -0.3% สู่ระดับ 1,339.03 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังคงลุกลาม และโอกาสของการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave

หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง หลายๆ ประเทศจึงมีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown แต่ภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ให้หลัง พบว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน เริ่มพบกับการแพร่ระบาดอีกครั้ง โดยสหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 3-4 หมื่นราย โดยรัฐ California, Texas, Florida และ Arizona เผชิญยอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ตอกย้ำผลกระทบเชิงลบจากการเร่งเปิดเมือง และการรวมกลุ่มประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมในกรณีของ George Floyd เช่นเดียวกันกับที่จีน ปักกิ่งพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ หลังปลอดเชื้อมาเกือบ 2 เดือน และส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ โดยศูนย์กลางการแพร่ระบาดมาจากตลาดค้าส่งอาหารซินฟาตี้ ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดของปักกิ่ง ทำให้รัฐบาลต้องประกาศ Lockdown ในหลายพื้นที่ในเมืองปักกิ่งเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ทำให้เกิดความกังวลว่าจีนจะต้องกลับมาปิดเมืองเต็มรูปแบบอีกครั้ง หากการแพร่ระบาดรอบนี้รุนแรงมากขึ้น จะก่อให้เกิด Downside ต่อเศรษฐกิจ และทำให้เดิมที่คาดเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ในช่วง 2H20 จะชะลอออกไป โดยการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 2020 ลงสู่ -4.9% จากเดิมคาด -3% และปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 2021 ลงสู่ 5.4% จาก 5.8% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับลด GDP ทางฝั่งยุโรป อินเดีย และละตินอเมริกา

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ แม้ประเทศไทยจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี จนในประเทศปลอดเชื้อมากว่า 30 วัน แต่เนื่องจากไทยพึ่งพิงภายนอกในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก และในปัจจุบัน สถานการณ์ภายนอกยังไม่สู้ดี ซึ่งกระทบต่อ External Demand อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อัตราการส่งออกไทยเดือน พ.ค. หดตัวถึง -22.50% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี อีกทั้งล่าสุด กนง.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2020 ลงสู่ -8.1% จากเดิม -5.3% และปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยในปีนี้ลงเหลือ -10.3% จากเดิมคาด -8.8% และมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในระยะที่ 2 ซึ่งได้แก่ การลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 2-4% การขยายระยะเวลางดการผ่อนชำระต่ออีก 3 เดือน และการขยายระยะเวลาลดค่างวดลงอย่างน้อย 30% ไปอีก 6 เดือน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ออกคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์งดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในงวดปี 2563 และงดการซื้อหุ้นคืนหรือไถ่ถอนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือชั้นที่ 2 ก่อนครบกำหนด รวมถึงให้จัดทำแผนการบริหารจัดการเงินกองทุนระยะเวลา 1-3 ปี สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อาจเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้สงสัยจะสูญปริมาณมหาศาลในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทำให้เกิดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทย และทำให้ SET Index ปรับตัวลง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงมาจากระดับ 1,450 มาอยู่บริเวณ 1,350 ในปัจจุบัน ทำให้ระดับ Valuation เริ่มกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง อีกทั้งในขณะนี้มีปริมาณเงินจำนวนมหาศาลถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต และการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างไปหยุดยั้ง ทำให้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า น่าจะมีการกระจายวัคซีนได้ในหลายประเทศ ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมิถุนายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,339.03จุด ปรับตัวลดลงจากระดับ 1,342.85 จุด หรือประมาณ -0.3% จากสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +6.0% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง +5.9% และกลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +5.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ -8.9% กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ -3.4% และกลุ่ม ICT -3.3% ในเดือนมิถุนายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 22,717 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 6,576 ล้านบาท