ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มิถุนายน 2563

ในช่วงต้นเดือน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อภายใต้มาตรการ Main Street Lending เพื่อให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้มากขึ้นและมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินกิจการในช่วงที่สหรัฐฯ กลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง โดย FED จะรับซื้อสินเชื่อดังกล่าวจากสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในเดือนนี้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ 0.00–0.25% และไม่ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ FED ให้คำมั่นว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่การระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ หดตัวรุนแรง FED พร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ จากประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ชี้ว่า FED จะคงอัตราดอกเบี้ย ณ ระดับปัจจุบันอย่างน้อยจนถึงปี 2022 นอกจากนี้ FED จะรักษาระดับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ณ ระดับปัจจุบันเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพของตลาดการเงิน (พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 8.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน และ MBS 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน) FED ประเมินเศรษฐกิจหดตัวสูงสุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือหดตัว 6.5% ในปีนี้ ก่อนจะกลับมาขยายตัว +5.0% ในปี 2021 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2.0% และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงมาที่ 9.3% ในไตรมาสสุดท้ายของปี FED จะหารือรายละเอียดมาตรการ Yield Curve Control รวมถึงการส่งสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Forward Guidance) ในการประชุมครั้งถัดไป (28-29 กรกฎาคม)

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเพิ่มวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) อีก GBP100 พันล้าน เป็น GBP745 พันล้าน เพื่อหนุนให้เงินเฟ้อฟื้นตัวขึ้นสู่เป้าหมายที่ 2% ในระยะกลาง โดยคาดมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในปีนี้ และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ BOE มีมุมมองต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากการประชุมรอบก่อน โดยระบุว่าราคาสินทรัพย์เสี่ยงได้ฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้จะยังมีความอ่อนไหวต่อพัฒนาการของไวรัส COVID-19 ขณะที่ดัชนีวัดเศรษฐกิจล่าสุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอังกฤษและโลกในไตรมาส 2 อาจหดตัวน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ นอกจากนี้ยังระบุว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคการบริการเริ่มฟื้นตัวภายหลังการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังที่ออกมาแล้วจะคอยหนุนการฟื้นตัวต่อจากนี้ เศรษฐกิจของอังกฤษหดตัวประมาณ -20% ในเดือนเมษายน (ต่อเนื่องจาก -6% ในเดือนมีนาคม) แต่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (Composite PMI) เดือน พฤษภาคมที่ฟื้นตัวขึ้นดีกว่าที่ตลาดคาด (+16.2, 30.0 จุด) อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษและโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของไวรัส COVID-19 มาตรการทางด้านสุขภาพ และการตอบสนองของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนต่อปัจจัยดังกล่าว

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ ทำให้มติดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อเงินบาทมากนัก สาเหตุการคงอัตราดอกเบี้ยคือ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอกว่าคาด แต่คาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีเช่นเดียวกับประเทศที่คุมการระบาดของไวรัสได้ดี อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบ แต่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2021 และคณะกรรมการมองว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินตั้งแต่ต้นปีและนโยบายการคลังปัจจุบันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงมาที่ -8.1% จากประมาณการเดิม -5.3% โดยประเมินการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากกว่าเดิม รวมทั้งการระบาดไวรัสส่งผลกระทบรุนแรงต่อการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทย ขณะที่ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ -1.7% จากเดิม -1.0% ในปีหน้าธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวที่ 5.0% และเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายโดยเฉลี่ย โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.9%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 3 ปีปรับลดลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 10 ปีปรับขึ้น จากความกังวลปริมาณพันธบัตรรัฐบาสที่จะออกประมูลในไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 2020 (กรกฎาคม-กันยายน 2020) ที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เริ่มกลับมาเป็นการซื้อสุทธิหลังจากการขายสุทธิ 4 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 6 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 26 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 2.2 หมื่นล้านบาท คงเหลือการถือครองประมาณ 8.2 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

image1