ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -5.6% สู่ระดับ 1,237.04 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐ และปัญหาการเมืองภายในประเทศ

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ แม้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯจะเริ่มลดลง และทรงตัวที่ระดับ 3-4 หมื่นราย/วัน แต่ในยุโรป ละตินอเมริกา และหลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศอินเดีย พม่า อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ทำให้ประเทศต่าง ๆ มีการใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 อาจมีการล่าช้าออกไป เช่น บริษัทแอสตราเซเนกา ประกาศระงับการทดสอบวัคซีน COVID-19 ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเป็นการชั่วคราว เนื่องจากหนึ่งในอาสาสมัครที่เข้ารับการทดสอบล้มป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะที่ผู้บริหารของบริษัทบีออนเทค เชื่อมั่นว่าวัคซีนที่บริษัทพัฒนาร่วมกับไฟเซอร์อาจจะได้รับการอนุมัติในช่วงกลางเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน 2563 เนื่องจากวัคซีนใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว นอกจากประเด็นการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังมีประเด็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดย FED คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะใช้เวลานานในการฟื้นตัวได้เต็มที่ ซึ่ง FED จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีเพื่อพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการทางการคลังยังมีความจำเป็นมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันรัฐสภาสหรัฐฯ ยังไม่สามารถตกลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ผลสำรวจการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 พบว่า นาย Joe Biden จากพรรค Democrat มีคะแนนนิยมนำประธานาธิบดี Donald Trump ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านนโยบายหลายอย่างหากเกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ทำให้ตลาดมีการปรับพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงล่วงหน้า ส่วนปัจจัยภายในประเทศ แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับคาดการณ์ GDP ไทยปี 2563 ขึ้นสู่ -7.8% จาก -8.1% เพื่อสะท้อนผลกระทบจากการปิดเมืองที่น้อยกว่าที่ประเมินไว้ แต่ได้ปรับลด GDP ปี 2564 ลง โดยคาดเติบโตที่ +3.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 5% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้า สอดคล้องกับมุมมองของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ประเมินกรณี Best Case โดยคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2564 ประมาณ 20.5 ล้านคน ลดลง -48% เทียบปี 2562 นอกจากนี้ กนง.ยังคงย้ำว่าไทยจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาจุดเดิมก่อนเกิด COVID-19 ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่เป็นแรงกดดัน คือความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น หลังนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลาออกหลังจากเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 เดือน โดยประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดความไม่แน่นอนของมาตรการทางการคลังในช่วงถัดไป โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะสามารถแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ภายในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ การชุมนุมของนักศึกษาเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้มีโอกาสจะเห็นการผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกันยายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,237.04 ปรับตัวลดลง 73.62 จุด หรือประมาณ -5.6% จากสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 24% กลุ่มยานยนต์ 3.5% และประกันภัยและประกันชีวิต 0.9% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -11.3% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -10.4% และกลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -9.3% นอกจากนี้ ในเดือนกันยายน บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 2,326.54 ล้านบาทและ 33,737.22 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 12,874.46 และ 23,189.30 ล้านบาทตามลำดับ