ภาวะตลาดหุ้นไทย -ตุลาคม 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -3.4% สู่ระดับ 1,194.95 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน เมษายน 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากตลาดยังขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ ท่ามกลางความเสี่ยงหลายประเด็นที่ยังคงอยู่ ประกอบด้วยการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ชัดเจน และปัญหาการเมืองภายในประเทศ

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และหลายประเทศในทวีปยุโรป เห็นได้จากยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯ และยุโรปที่เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ ทำให้หลายประเทศประกาศใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดอีกครั้ง เช่น ประเทศฝรั่งเศสประกาศเคอร์ฟิวคิดเป็นประชากรกว่า 70% จากประชากรทั้งหมด ประเทศอังกฤษประกาศยกระดับการเตือนภัยในกรุงลอนดอนและเมืองลิเวอร์พูลสู่ระดับสูงจากระดับปานกลาง ประเทศเยอรมนีกำลังพิจารณาการ Lockdown อีกครั้ง โดยจะสั่งปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่าง ยกเว้นโรงเรียนและร้านค้าที่จำเป็น ซึ่งเป็นการ Lockdown ในระดับใกล้เคียงกับการระบาดครั้งแรก นอกจากนี้ ประเทศสเปนได้ออกมายอมรับการเข้าสู่การแพร่ระบาดรอบที่ 2 โดยสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะส่งผลให้ยากต่อการควบคุมการระบาด ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ชัดเจน แม้ทำเนียบขาวได้ยื่นข้อเสนอครั้งใหม่ เพื่อเพิ่มวงเงินสู่ระดับ 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ยังคงต่ำกว่าวงเงินที่พรรค Democrat ต้องการที่ 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังคงเจรจากันอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ขณะที่ FED ยังคงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการทางการคลัง หากต้องการให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขึ้นอยู่กับกรอบเวลาและวงเงินของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 จะถูกอนุมัติหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ทั้งสองปัจจัยที่กล่าวข้างต้นส่งผลทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้กดดันตลาดสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในเดือนที่ผ่านมา เป็นผลมาจาก Demand ที่มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มขึ้นจากการชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งและการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้เงินลงทุนไหลออกจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีโอกาสจะเห็นการผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนตุลาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,194.95 ปรับตัวลดลง 42.09 จุด หรือ -3.4% จากสิ้นเดือนกันยายน 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร 20.9% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 14.5% และเงินทุนและหลักทรัพย์ 5.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -10.8% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -8.5% และกลุ่มพาณิชย์ -8.2% นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคม บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1,891.02 ล้านบาทและ 33,100.23 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 13,115.03 และ 21,876.22 ล้านบาท ตามลำดับ ทำให้ยอดการซื้อขายสะสมตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบันนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 55,057.30 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อหุ้นไทยสุทธิ 4,202.21 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 299,550.21 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 240,290.70 ล้านบาท