SET Index ปรับตัวขึ้น +6% สู่ระดับ 1,587.21 จุด เนื่องจากการที่ประธานาธิบดี Joe Biden ลงนามในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ตลาดพันธบัตรผันผวนจาก US Bond Yield 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ปัจจัยในประเทศเริ่มดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19
ประธานาธิบดี Joe Biden ได้ลงนามในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ US Bond Yield 10 ปี ปรับตัวอย่างรวดเร็วขึ้นสู่ระดับ 1.7% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 10 เดือน ทำให้เกิด Sector Rotation ขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยมีการขายทำกำไรหุ้นในกลุ่ม High PER High Growth และเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มที่อิงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ Low PER นอกจากนี้การที่เงินเฟ้อปรับตัวขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่า FED จะยุติการใช้มาตรการผ่อนคลาย แต่ FED ยังยืนยันว่าจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยจนถึงปี 2023 โดย FED ประเมินว่าเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเพียงการเร่งตัวชั่วคราวและ FED จะใช้มาตรการผ่อนคลายต่อไป และซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ/เดือน เช่นเดียวกับแนวโน้มที่ Dovish จาก ECB ที่ส่งสัญญาณว่ามีความพร้อมในการเพิ่มวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตรรายสัปดาห์ (Weekly Purchase) ในกรณีที่ตลาดพันธบัตรมีความผันผวน ซึ่งการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายของทั้ง FED และ ECB ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง ในส่วนของราคาน้ำมัน จากการประชุม OPEC+ มีมติเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบเพียง 150,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนเมษายน ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน ประกอบกับซาอุดิอาระเบียสมัครใจที่จะปรับลดกำลังการผลิตลง 1 ล้านบาร์เรล/วันต่อเนื่องอีก 1 เดือน ขณะที่ฝั่ง Demand มีสัญญาณฟื้นตัวได้ดี เห็นได้จากการที่จีนนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น +4.1%YoY ในช่วง 2 เดือนแรกของปี ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น ก่อนที่จะปรับตัวลงหลังจากยุโรปประกาศใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง
ส่วนปัจจัยภายในประเทศไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่สีส้ม จากเดิมเป็นพื้นที่สีแดง นอกจากนี้ยังมีมติลดเวลากักตัวสำหรับบุคคลที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ทั้งในกรณีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ลงเหลือ 10 วัน จากเดิม 14 วัน ยกเว้นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ ยังคงต้องกักตัว 14 วันตามเดิม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 นอกจากนี้ ยังมีการอนุมัติมาตรการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ทั้งโครงการทัวร์เที่ยวไทยและโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 รวมถึงพิจารณาการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว โดยนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมมีสัญญาณที่ดีขึ้น
สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,587.21 จุดปรับตัวขึ้น 90.43 จุดหรือ 6% จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง 24.0% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 18.7% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ 13.3% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -18.7% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -6.5% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต 3.3% ซึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีหลักทรัพย์ซื้อหุ้นไทยสุทธิ 7,303.24 และ 2,373.88 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนทั่วไปในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิ 68.37 ล้านบาท และ 9,608.74 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 3,875.15 และ 48,560.19 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 22,765.95 ล้านบาท และ 29,669.39 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร วัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ICT ค้าปลีก ปิโตรเคมี และขนส่ง ขณะที่ผลตอบแทนของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex. Japan ในช่วง 1, 3 และ 6 เดือนหลังสุด แต่ในช่วง 12 เดือนหลังสุดผลตอบแทนของ ดัชนี MSCI Thailand ยังคงแย่กว่า