ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2564

SET Index ปรับตัวลง -0.3% สู่ระดับ 1,583.13 จุด เนื่องจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ (Third Wave) ในประเทศไทย ขณะที่งบการเงินของหุ้นในกลุ่มธนาคารออกมาดีและปัจจัยภายนอกมีสัญญาณบวกจาก Global Indicators ที่ส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง

ปัจจัยภายนอกมีสัญญาณบวกจาก Global Indicators ที่ส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง ทั้ง US Bond Yield 10 ปี ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.63% ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 หลังจากปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือนที่ระดับ 1.74% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวอ่อนค่าที่สุดในรอบ 1 เดือน

ส่วนปัจจัยภายในประเทศไทยแม้ว่างบการเงินไตรมาส 1 ปี 2564 ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มธนาคารจะออกมาดี จากการตั้งสํารองและงบลงทุนที่ลดลงช่วยชดเชยการชะลอการเติบโตของสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ประเด็นภายในประเทศที่กดดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง คือ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ (Third Wave) ของไวรัส COVID-19 ซึ่งเริ่มแพร่กระจายจากสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ จากนั้นได้แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องออกคำสั่งปิดสถานบันเทิงทุกแห่ง และใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ประกาศปิด 31 สถานที่เสี่ยงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในการระบาดรอบนี้สูงกว่าการระบาดรอบแรกและรอบที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดเกือบ 3,000 รายต่อวัน ทำให้เกิดความเสี่ยงที่โรงพยาบาลจะไม่สามารถรองรับผู้ป่วยเพิ่มได้ ขณะที่การฉีดวัคซีนในประเทศไทยค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากวัคซีนที่ไทยจะได้รับส่วนใหญ่จะอยู่ในครึ่งหลังของปี โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนไปเพียง 1.6% ของประชากร ต่ำกว่าทวีปเอเชียที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 4.3% และทั่วโลกที่ 7.7% โดยจะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้ช้า นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความเร็วในการฉีดวัคซีนด้วย ทั้งนี้ จากการเกิด Third Wave ในประเทศไทยอาจส่งผลให้มีการปรับลดประมาณการณ์ GDP ลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3% เนื่องจากการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าและการระบาดของโรคจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว โดยทำให้แผนในการเปิดรับนักท่องเที่ยวล่าช้าออกไป ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้าลงไปอีก

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนเมษายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,583.13 จุด ปรับตัวลง 4.08 จุดหรือ 0.3% จากสิ้นเดือนมีนาคม 2564 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง 15.7% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 15.6% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 7.3% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -7.8% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -7.7% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -7.5% ซึ่งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 17,987.86 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศ บัญชีหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 14,232.63 ล้านบาท 396.08 ล้านบาท และ 3,359.14 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 3,479.07 ล้านบาท และ 66,548.05 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 36,998.59 ล้านบาท และ 33,028.53 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้างและกลุ่มปิโตรเคมีฯ แต่ลดการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน อสังหาฯ และขนส่ง

ขณะที่ผลตอบแทนของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex. Japan ในช่วง 3 และ 6 เดือนหลังสุด แต่ในช่วง 1 และ 12 เดือนหลังสุดผลตอบแทนของ ดัชนี MSCI Thailand ยังคงแย่กว่า ทั้งนี้ ในส่วนของประมาณการกำไรฯ ปี 2564 ของ SET นั้น consensus มีการปรับขึ้น 4.56% เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และอินโดนีเซีย ปรับขึ้น 9.70%, 8.87%, 7.68%, 4.01%, 3.61% และ 3.04% ตามลำดับ ตรงข้ามกับจีน ที่ปรับประมาณการกำไรปีนี้ลง 1.30%