ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – สิงหาคม 2564

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คงนโยบายการเงินเดิมตามคาดการณ์ของตลาด โดยมีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.1% และมีมติ 7-1 คงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่อัตรา GBP875bn โดยมีกรรมการท่านหนึ่งสนับสนุนให้ลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ลงเป็น GBP830bn BOE มีมุมมองต่อสภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นในระยะกลางและมองว่าจะมีอุปสงค์ส่วนเกินเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีถัดไป ซึ่งจะหนุนให้นโยบายการเงินต้องมีความตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะจากเงินเฟ้อที่คาดจะพุ่งขึ้นสูงและอยู่เหนือระดับเป้าหมาย 2% ในระยะกลาง และคาดเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 4.0% ในไตรมาส 4 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากที่เคยคาดไว้ที่ 2.5% ในเดือนพ.ค. จากรายงานเงินเฟ้อที่ออกมาขยายตัวสูงกว่าคาด (2.5% เดือน มิ.ย.) และผลของการเปิดเศรษฐกิจ รวมถึงต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี BOE มองว่าจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยคาดเงินเฟ้อจะชะลอลงเป็น 2.5% ในปี 2022 (เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาด 2.0%) และชะลอลงเป็น 2.0% ในปี 2023 ผู้ว่าฯ BOE ระบุว่าแม้การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อมาจากปัจจัยชั่วคราว แต่การที่เงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้ในระยะกลางนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องลดมาตรการผ่อนคลายบางส่วน ส่วนด้านประมาณการเศรษฐกิจ ได้มีการคงคาดการณ์ GDP ปีนี้ไว้ที่ 7.25% แต่ปรับเพิ่มคาดการณ์ปี 2022 ขึ้นเป็น 6.0% จากที่คาด 5.0% ในเดือนพ.ค. นอกจากนี้ BOE คาดว่าอัตราการว่างงานจะอยู่ที่ระดับ 4.75% ในปีนี้ ลดลงจากที่คาด 5.0% ในเดือน พ.ค. และคาดจะลดลงอยู่ที่ระดับ 4.25% ในปี 2023 (เท่ากับคาดการณ์เดิม)

รายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาชี้ว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่งต่อเนื่อง และเห็นควรให้เริ่มลด QE ภายในปีนี้ แต่ยังไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ เนื่องจากคณะกรรมการยังคงต้องการเห็นการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยประธาน FED ได้แสดงปาฐกถาในงานสัมมนาประจำปีที่แจ็คสันโฮล สนับสนุนการลด QE ในปีนี้ เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวเร็วกว่าคาดการณ์ จน GDP สหรัฐฯ พุ่งเหนือระดับก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจ ปัจจุบันอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 5.4% ของกำลังแรงงานรวม และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ไม่สามารถมองข้ามได้ แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงและเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ดังนั้น จึงเห็นควรเริ่มลด QE ในปีนี้ แม้ในระยะสั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า โพเวลส่งสัญญาณว่า การขึ้นดอกเบี้ยยังห่างไกลและไม่เกี่ยวข้องกับการลด QE เนื่องจาก FED ใช้วิธีที่แตกต่างกันในการพิจารณานโยบายทั้งสองแบบ FED จะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับเข้าสู่ระดับการจ้างงานเต็มที่ และเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ซึ่งโพเวลระบุว่ายังคงมีปัจจัยอีกมาก รวมถึงจำเป็นต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าการจ้างงานจะเข้าสู่ระดับสูงสุดตามที่ FED ตั้งเป้าหมายไว้

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 2 เสียงให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เนื่องจากมองว่ามาตรการทางการเงินมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งอยู่ในระดับต่ำแล้ว ในขณะที่คณะกรรมการอีก 2 ท่านเห็นว่าควรลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อเป็นมาตรการเสริมในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ คณะกรรมการ 1 ท่านลาประชุม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดคาดการณ์จีดีพีมาอยู่ที่ 0.7% ปี 2021 และ 3.7% ในปี 2022 จากประมาณการเดิม ณ เดือนมิถุนายนที่ 1.8% และ 3.9% ตามลำดับ จากการระบาดของไวรัสระลอกใหม่ส่งผลกระทบมากกว่าที่ประเมินไว้และยังมีความเสี่ยงสำคัญจากการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยประเมินว่า ในกรณีฐานจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพียง 1.5 แสนคน จากเดิมที่คาด 7 แสนคน ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ จาก พรก. กู้เงินฉบับล่าสุด และการส่งออกที่ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธปท. ยังเห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการระบาดไม่ให้ยืดเยื้อ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 1 ปีไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงนัก ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวไม่มีทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนนัก ท่ามกลางความกังวลสภาพเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในระลอกนี้ ในขณะที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดี ทำให้ตลาดมีความกังวลถึงโอกาสที่ FED จะลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลง ทำให้อัตราผลตอบแทนระยะยาวปรับขึ้นเล็กน้อย ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึง 4.76 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.92 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.84 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยรวมประมาณ 9.7 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1.12 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

thai-fixed-income-market-Aug-2021