ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กรกฎาคม 2564

การประชุมนโยบายการเงินในช่วงกลางเดือนของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ปรับลดประมาณ GDP ปี 2021 ลงมาที่ 3.8% จาก 4.0% ที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ขณะที่เพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขึ้นมาที่ 0.6% จาก 0.1% และประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อระยะปานกลางถึงยาวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ BOJ มีมาตรการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนถึงปีงบประมาณ 2030 ด้วยการให้สินเชื่อดอกเบี้ย 0% อายุ 1 ปีแก่สถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้และสนับสนุนการลงทุนด้านเศรษฐกิจสีเขียว โดยสามารถต่ออายุได้ไม่จำกัด ขณะที่ตลาดประเมินว่า BOJ จะสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนแก่สถาบันการเงิน ทางด้านสัญญาณนโยบายการเงิน BOJ ยังคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์และคงมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ ด้านมาตรการซื้อสินทรัพย์ คงกำหนดการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยน และ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่เกิน 20 ล้านล้านเยนถึงกันยายนปีนี้ ทั้งนี้ BOJ ส่งสัญญาณจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อระยะกลางโดยกำหนดไว้ที่ 2% จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ใกล้เคียงแต่ต่ำกว่า 2% พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่าจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายเงินเฟ้อระยะกลางที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ สะท้อนว่า ECB จะยอมให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงเกินกว่า 2% ได้เป็นการชั่วคราว โดย ECB จะคงปริมาณการซื้อสินทรัพย์ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2022 เป็นอย่างน้อยหรือจนกว่าวิกฤตโควิดจะจบลง ในไตรมาสนี้ ECB เพิ่มขนาดการซื้อสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญที่ 1.4 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ในไตรมาสแรก และ 1.8 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ในไตรมาสที่สองของปีตามลำดับ และคงการผ่อนคลายทางการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) ที่ -0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินซื้อสินทรัพย์มาตรการ Asset Purchase Program (APP) ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร

ในช่วงปลายเดือนมีการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) โดยมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.00%-0.25% และคงมาตรการซื้อสินทรัพย์ที่เดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อไป จนกว่าการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อจะมีพัฒนาที่ชัดเจนตามเป้าหมาย นายเจอโรม โพเวล ประธานเฟดแถลงหลังการประชุมว่า อีกสักพักกว่าจะเริ่มลดขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์เนื่องจากแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ถึงระดับที่เฟดตั้งเป้าหมายไว้โดยเฉพาะตลาดแรงงานและภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด พร้อมกันนี้ยังมองว่าการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเป็นประเด็นที่ยังไม่น่าไว้วางใจ แม้ว่าปัจจุบันสหรัฐฯ จะฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มไปแล้วถึง 57% และได้รับวัคซีนครบจำนวนแล้ว 49% คณะกรรมการ FOMC จึงจะประเมินพัฒนาของเศรษฐกิจในการประชุมครั้งต่อๆ ไป

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 1 ปีไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงนัก ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวช่วงอายุ 10-30 ปีปรับลดลงมา 18-25 Bps ตามความกังวลสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และอยู่ในทิศทางเดียวกับตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ที่อัตราผลตอบแทนระยะยาวปรับลดลงแรงอีกครั้งหลังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าเพิ่มขึ้น โดยระหว่างเดือนอัตราผลตอบแทน 10 ปี ลดลงไปต่ำสุดที่ 1.19% ก่อนที่จะปิดสิ้นเดือนที่ 1.24% ในเดือนกรกฎาคม 2564 นักลงทุนต่างชาติลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยลง 8.2 พันล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.1 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 6.3 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยรวมประมาณ 9.15 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

thai-fixed-income-market-July-2021