ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2564

SET Index ปรับตัวลง -2.0% สู่ระดับ 1,605.68 จุด โดยปัจจัยภายนอกเป็นแรงกดดันตลาด ประกอบด้วยเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของประเทศจีน การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เกี่ยวกับ QE Tapering ขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศดีขึ้น ส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพิ่มเติม

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่กดดันตลาด คือ การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท เอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน ซึ่งบริษัท เอเวอร์แกรนด์ มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2 งวดในเดือนนี้ ในวันที่ 23 กันยายน มูลค่า 83.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 29 กันยายน มูลค่า 47.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัท เอเวอร์แกรนด์ ผิดนัดชำระหนี้ทั้ง 2 งวด ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ส่งสัญญาณที่จะทยอยปรับลดวงเงินของโครงการ PEPP ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2021 โดย ECB มีการปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2021 ขึ้นสู่ 5% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี 2021 ปรับเพิ่มเป็น 2.2% ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ 1.7% ในปี 2022 และ 1.4% ในปี 2023 ขณะที่ผลการประชุม FOMC มีมติคงอัตราดอกเบี้ย พร้อมส่งสัญญาณว่าจะปรับลดวงเงิน QE ในไม่ช้า ขณะที่ Dot Plots แสดงให้เห็นว่ากรรมการ FED สนับสนุนให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2022 ซึ่งเร็วกว่าคาดการณ์เดิมในปี 2023 โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดคาดการณ์ว่า FED จะประกาศ Tapering ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน 2021 และมีในผลเดือนธันวาคม 2021 และคาดว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2023 โดยปรับดอกเบี้ยขึ้นทุก ๆ 6 เดือน และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะปรับดอกเบี้ยขึ้น 3 ครั้งต่อปี ในภาพรวม การทำ QE Tapering ไม่ได้มีสัญญาณเร่งตัว แต่ภาพการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร่งตัวอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธาน FED ส่งสัญญาณว่าสหรัฐอเมริกาจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสู่ระดับ 4% ภายในสิ้นปีนี้ ปัจจัยทั้งหมดทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าสู่ระดับ 94.3 จุดและ US Bond Yield 10 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.53% กดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกและทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากทวีปเอเชีย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ดีขึ้น เห็นได้จากยอดผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพิ่มเติม ให้บางธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินได้ ประกอบด้วย ร้านเสริมสวย ธุรกิจร้านนวด ร้านสปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ ขณะที่ร้านอาหารสามารถเล่นดนตรีได้ตามปกติ นอกจากนี้ ได้ปรับลดระยะเวลามาตรการเคอร์ฟิวลง เป็น ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ขณะที่ห้างสรรพสินค้าปรับเวลาเปิดบริการได้ถึง 21.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม รวมถึงมีการต่อพรก.ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน จนถึงเดือนพฤศจิกายน ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% โดยย้ำว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่แล้ว โดยมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย จากการกระจายวัคซีนและผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ที่เร็วกว่าคาด และคงการคาดการณ์ GDP ปีนี้ที่ระดับ 0.7% ขณะที่ปี 2022 ปรับกลับมาที่ระดับ 3.9% จากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ระดับ 3.7%

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกันยายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,605.68 ปรับตัวลง 33.07 จุดหรือ -2.0% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธนาคาร 6.8% (โดยได้รับผลกระทบหลักจากการประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจของ SCB) กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 1.6% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 1.5% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -14.7% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -11.9% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -6.6% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา บัญชีหลักทรัพย์ นักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1,378 ล้านบาท 11,137 ล้านบาท และ 2,809 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิ 15,325 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 12,727 ล้านบาท และ 104,920 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 40,942 ล้านบาทและ 76,705 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิติดต่อเป็นเดือนที่ 2 โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน ICT ปิโตรเคมี แต่ลดการถือครองในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และขนส่ง ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex. Japan ในช่วง 3 และ 12 เดือนหลังสุด แต่แย่กว่าในช่วง 1 และ 6 เดือนหลังสุด ทางด้าน Consensus ปรับประมาณการกำไรฯ ปี 64 ของ SET ขึ้น 0.12% เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ไต้หวัน และสิงคโปร์ที่ปรับประมาณการกำไรฯ ปีนี้ขึ้น 3.8%, 1.4% และ 1.4% ตรงข้ามกับมาเลเซีย และฮ่องกง ที่ปรับประมาณการกำไรฯ ปีนี้ลง 15.2% และ 5.1% ตามลำดับ