SET Index เดือนกุมภาพันธ์ ปิดระดับ 1,622.35 จุด (-2.9% จากเดือนมกราคม) เป็นการแกว่งตัวลงตลอดทั้งเดือน โดยรับแรงกดดันจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายนอกยังเป็นความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลว่า FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่คาดไว้ และส่งผลให้ดึงเม็ดเงินออกจากตลาดหุ้น Emerging Market ส่วนปัจจัยภายในเป็นเรื่องของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่อ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นำไปสู่โอกาสในการปรับประมาณการของปี 2566 ลง
สำหรับปัจจัยกดดันจากภายนอก เริ่มจากตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคมอยู่ที่ 6.4% และ 5.6% ตามลำดับ ลดลงจาก 6.5% และ 5.7% อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นระดับเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบที่ทาง FED กำหนดไว้ที่ 2% ทำให้ตลาดมีการปรับการคาดการณ์ว่า FED มีโอกาสปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกมากกว่าที่เคยคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอีกไม่เกิน 50 bps และอาจจะไม่มีการลดดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคมเพิ่มถึง 5.17 แสนตำแหน่ง ในขณะที่อัตราว่างงานปรับลดลงสู่ 3.4% จาก 3.5% ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ค่าแรงเฉลี่ยรายชั่วโมงยังปรับตัวขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ตัวเลขทั้งหมดสนับสนุนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีแนวโน้มที่แข็งแกร่ง เมื่อประกอบกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯและประเทศไทยที่ปรับขึ้นมาถึง 3% ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่า ส่งผลให้กระแสเงินทุนต่างชาตินั้นพลิกไหลออกจากตลาดหุ้นประเทศไทย
สำหรับปัจจัยภายในที่แม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และเม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงการเลือกตั้ง แต่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4 ที่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยกำไรสุทธิไตรมาสที่ 4/2565 ลดลงถึง 40% YoY และทำให้กำไรสุทธิของปี 2565 เติบโตเพียง 2% โดยมีปัจจัยในเรื่องของต้นทุนการผลิตและดำเนินงานที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในช่วงก่อนหน้า การจ่ายผลตอบแทนพิเศษให้พนักงานในช่วงปลายปี รวมไปถึงการตั้งสำรองสินทรัพย์ด้อยค่าของหลายบริษัท นอกจากนี้ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของไทยยังขยายตัวต่ำกว่าคาด คือขยายตัวเพียง 1.4% YoY จากการหดตัวของภาคการส่งออก และการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทั้งหมดทำให้ตลาดต้องมีการทบทวนประมาณการการเติบโตของ GDP และกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนสำหรับปี 2566 ใหม่
สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดคือ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ +5.7% กลุ่มธุรกิจการเกษตร +2.7% และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ +0.1% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร -15.1% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -6.9% และกลุ่มกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -6.7% โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 43.5 หมื่นล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 28.6 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 0.1 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 13.8 หมื่นล้านบาท
สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสแรกของปี 2566 เรามองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยได้รับการสนับสนุนจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยว การใช้จ่ายในช่วงการเลือกตั้ง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่นักลงทุนน่าจะเริ่มลดความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED เมื่อคณะกรรมการ FED บางท่านเริ่มส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากอ่อนตัวอย่างรุนแรงในช่วงต้นปี ทำให้มีโอกาสที่ตลาดหุ้นประเทศไทยจะได้รับอานิสงค์จากกระแสเงินลงทุนที่ไหลกลับเข้าสู่ประเทศได้อีกครั้ง