ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2566

SET Index เดือนมีนาคม ปิดที่ระดับ 1,609.17 จุด (-0.81% จากเดือนกุมภาพันธ์) เป็นการปรับลงแรงในช่วงครึ่งเดือนแรกจากความกังวลต่อวิกฤตภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรป ก่อนจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของเดือนเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆค่อย ๆ คลี่คลายลง หลังจากทางการได้ออกมาตรการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การเลือกตั้งในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้นหลัง กกต.ประกาศให้วันที่ 14 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป เป็นแรงสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนให้ดีขึ้น

สำหรับปัจจัยกดดันภายนอก เริ่มจากความกังวลในช่วงต้นเดือนว่า FED อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้า หลังจากตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ออกมาค่อนข้างแข็งแกร่ง และตลาดได้มีการปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วงกลางเดือนจากความตื่นตระหนกต่อข่าวธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ถูกสถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐ (FDIC) สั่งปิดกิจการเนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน อันเป็นผลมาจากการแห่ถอนเงินฝากของกลุ่มบริษัท Start-up จนทำให้ทาง SVB ต้องทำการขายขาดทุนพันธบัตรระยะยาวมาคืนผู้ฝาก นอกจากนี้ ตลาดยังโดนกดดันจากปัญหาในภาคธนาคารของยุโรป โดยธนาคาร Credit Suisse ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 17 ของโลกประสบปัญหาสภาพคล่องหลังมีข่าวว่า Credit Suisse อาจจะมีปัญหาในการเพิ่มทุนเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ติด Limit ในการถือหุ้น และทำให้มีการแห่ถอนเงินจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ตลาดมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายเดือนหลังจากทางการสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ออกมาให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องอย่างรวดเร็ว โดยในกรณีของ SVB ทาง FED ได้ประกาศการจัดตั้งโครงการ Bank Term Fund Programing โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB ส่วนทางธนาคาร Credit Suisse ทางการสวิตเซอร์แลนด์เสนอให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ธนาคาร UBS เป็นมูลค่า 100,000 ล้านฟรังก์ เพื่อให้ทางธนาคาร UBS เข้ามาซื้อกิจการของธนาคาร Credit Suisse นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้หลักประกัน 9,000 ล้านฟรังก์สำหรับคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากสินทรัพย์ที่ UBS เข้าครอบครอง

สำหรับปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศ ปัจจัยแรกคือรัฐบาลได้ประกาศยุบสภาและ กกต.ได้ประกาศให้วันที่ 14 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินที่ใช้สำหรับการหาเสียงออกมาช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน ส่วนปัจจัยถัดมาจะเป็นในเรื่องค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นในเดือนที่ผ่านมาและทำให้กระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดทุนน้อยลง โดยมีสาเหตุจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง จากทั้งการคาดการณ์ว่า FED จะไม่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงเหมือนในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา และการที่ประเทศไทยก็มีการทยอยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดคือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 20.8% จากแรงเก็งกำไรในหุ้น DELTA และกลุ่มการแพทย์ 3.7% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -9.8% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -7.4% และธุรกิจการเกษตร -6.7% โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 3.2 หมื่นล้านบาทน้อยกว่าเดือนที่แล้วที่ขาย 4.4 หมื่นล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 1.6 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสสองของปี 2566 เรามองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีแนวโน้มที่ดีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและเม็ดเงินจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามอาจจะเห็นการอ่อนตัวของผลประกอบการภาคท่องเที่ยวบ้างในไตรมาสนี้เนื่องจากได้รับผลจากฤดูกาล แต่หากมองข้ามไปยังครึ่งปีหลัง เรายังคงมั่นใจว่าการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพยุงเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2566