ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 50bps ต่อเนื่อง จากเงินเฟ้อที่สูงเกินไปในระยะเวลาที่นานเกินไป โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก 2.50% ไปอยู่ที่ 3.00% อัตราดอกเบี้ย (Main refinancing operations) จาก 3.00% ไปอยู่ที่ 3.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 3.25% ไปอยู่ที่ 3.75% พร้อมยังทำตามแผนเดิมของการประกาศลดขนาดงบดุลตามที่เคยประกาศไว้ในเดือนธันวาคม 2022 ซึ่งเริ่มต้นในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ECB กล่าวพร้อมเข้าดูแลและมีเครื่องมือเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาและระบบการเงินของยุโรป อย่างไรก็ดีระบบธนาคารของยุโรปยังคงมีทุนและสภาพคล่องเพียงพอ ECB คาดเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ที่ 5.3% จากที่คาดไว้เดิมที่ 6.3% สำหรับปี 2023 จากการลดลงของราคาพลังงาน และการคลี่คลายของปัญหาคอขวดด้านอุปทาน อย่างไรก็ดี ECB ปรับขึ้นคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้ไปอยู่ที่ 4.6% จากที่คาด 4.2% ในเดือนธันวาคม เนื่องจากผลของการส่งผ่านราคาพลังงานที่สูงในอดีต นอกจากนี้ ECB ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2023 ไปอยู่ที่ 1.0% จาก 0.5%
การประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในเดือนนี้มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 25bps ตามคาด เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.75%-5.00% โดย FED ได้ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยใกล้จบสิ้นลง สะท้อนจากค่ากลางของ Dot plot ที่อยู่ที่ 5.1% สำหรับปี 2023 ซึ่งหมายถึงการขึ้นดอกเบี้ยอีกแค่ครั้งเดียว ซึ่ง FED จะประเมินการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ผ่าน ๆ มาที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน และประเมินในระยะข้างหน้าการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะเหมาะสมเพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% แถลงการณ์ของ FED กล่าวว่าระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น และการล่มสลายของบางธนาคารในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในเดือนนี้มีแนวโน้มทำให้เกิดความตึงตัวด้านสินเชื่อของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลกระทบมีความไม่แน่นอนสูง และเร็วเกินไปที่จะบอกว่านโยบายการเงินควรตอบสนองอย่างไร คณะกรรมการฯ ยังคงเฝ้าระวังต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ทางด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ FED ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เติบโตได้น้อย โดยปรับลดเป็น 0.4% จากที่คาดการณ์ที่ 0.5% และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้น โดยดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลไปอยู่ที่ 3.3% จาก 3.1% และดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานอยู่ที่ 3.6% จาก 3.5%
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 1.75% ตามคาด โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ด้านเงินเฟ้อยังคงมองมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในกลางปีนี้ โดย ธปท. พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ ธปท. ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.6% ในปีนี้ และ 3.8% ในปีหน้า จากเดิมที่คาด 3.7% และ 3.9% ตามลำดับ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปรับขึ้นคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เป็น 28 ล้านคน จากที่คาดไว้เดิม 22 ล้านคน และปรับเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 35 ล้านคนในปีหน้า ทางด้านเงินเฟ้อ ธปท. ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อลงเล็กน้อย จาก 3.0% ในปีนี้ เป็น 2.9% และปรับเพิ่มเงินเฟ้อปีหน้าเป็น 2.4% จาก 2.1%
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละช่วงอายุโดยส่วนใหญ่ปรับลดลง 1-28bps ยกเว้นพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 3 เดือนที่ปรับขึ้นไปเล็กน้อยซึ่งเป็นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนทิศทางเป็นการปรับลดลงอย่างมากจากปัญหาการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ทำให้นักลงทุนในตลาดเกิดความกังวลว่าวิกฤตการเงินจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจอย่างไร และคาดการณ์ว่า FED จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มากไปกว่านี้ โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 1 ปีได้ลดลงจากช่วงต้นเดือนที่ 5.25% มาอยู่ที่ 4.06% ณ สิ้นเดือน ส่วนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีได้ลดลงจากช่วงต้นเดือนที่ 4.01% มาอยู่ที่ 3.48% ตอนสิ้นเดือน สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.2 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรเพิ่มขึ้นประมาณ 1.66 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ประมาณ 1.06 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท
ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ