ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องตามคาด ในการประชุมครั้งแรกของอูเอดะ ผู้ว่า BOJ คนใหม่ ด้วยมติเอกฉันท์ให้ (1) คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% (2) ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และ (3) คงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัดที่ 0.5% โดย BOJ ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องแต่ไม่ระบุถึงโอกาสการคงดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำกว่าปัจจุบันอย่างที่ระบุไว้ในการประชุมครั้งก่อน ๆ และส่งสัญญาณถึงการพิจารณานโยบายการเงินในระยะยาว นอกจากนี้ยังได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2023 ลงเป็น 1.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.7% พร้อมเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.6% ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นรอบด้าน
ด้านข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เดือนมีนาคมออกมาดีกว่าคาด โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรอยู่ที่ 2.36 แสนตำแหน่ง ดีกว่าคาดการณ์ที่ 2.30 แสนตำแหน่ง แม้ชะลอลงจากระดับ 3.26 แสนตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า ด้านอัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 3.5% จาก 3.6% ในขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 62.6% จาก 62.5% ทางด้านเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมชะลอลงมาอยู่ที่ 5.0% YoY น้อยกว่าคาดการณ์ที่ 5.1% YoY และชะลอจาก 6.0% YoY ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ทั้งตัวเลขตลาดแรงงานและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แม้จะชะลอลง แต่ยังไม่พอที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หยุดการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคม ซึ่งสมาชิกเฟดหลายท่านได้ออกมาแสดงถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่ยังสูงเกินไปแม้จะชะลอลง รวมถึงจากค่ากลาง Dot plot ที่สมาชิกเฟดคาดไว้ในการประชุมครั้งที่แล้วแสดงถึงการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ตลาดคาดการณ์ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% อีกครั้ง ในการประชุมเดือนพฤษภาคม และมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในรอบนี้ ซึ่งจะทำให้จุดสูงสุดของดอกเบี้ย FED ในรอบนี้อยู่ที่ 5.00-5.25% โดย FED มีแนวโน้มส่งสัญญาณการใกล้ถึงจุดสูงสุดของการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ด้วย
ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.83% YoY (-0.27% MoM) ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 3.79% YoY และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.25% YoY เนื่องจากการชะลอลงของราคาพลังงานและอาหารเป็นหลัก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.75% YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.93% YoY และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 1.80% YoY สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เป็น 1.7-2.7% (ค่ากลาง 2.2%) ลดลงจากคาดการณ์เดิมในเดือนพฤศจิกายนที่ 2.0-3.0% (ค่ากลาง 2.5%) และคาดการณ์เงินเฟ้อจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากราคาน้ำมันและการส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอตัว มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท. และฐานที่สูงจากปีก่อน ในขณะที่ค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และการเลือกตั้งอาจส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละช่วงอายุปรับขึ้น 3-18bps โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับเพิ่มขึ้นในรุ่นอายุ 3-10 ปี (11-18bps) ส่วนตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีความผันผวนมาก ในช่วงครึ่งเดือนแรกอัตราผลตอบแทนปรับลดลงจากความกังวลว่าวิกฤตการเงินจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและคาดการณ์ว่า FED จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มากไปกว่านี้ หลังจากนั้นในครึ่งเดือนหลัง จากการที่สมาชิกเฟดหลายท่านได้ออกมาแสดงถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่ยังสูงเกินไป ก็ทำให้อัตราผลตอบแทนกลับมาปรับเพิ่มอีกครั้ง โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รุ่นอายุ 1 เดือนเคลื่อนไหวระหว่าง 3.40-4.70%, รุ่นอายุ 2 ปีเคลื่อนไหวระหว่าง 3.82-4.19% และรุ่นอายุ 10 ปีเคลื่อนไหวระหว่าง 3.30-3.60% สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.3 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.4 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนเมษายนอยู่ที่ประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท
ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ