ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2566

SET Index ในเดือนกรกฎาคม 2566 ปิดที่ระดับ 1,556.06 จุด เพิ่มขึ้น 3.5% จากเดือนก่อน โดยดัชนีได้ฟื้นตัวขึ้นหลังจากมีการปรับตัวลงแรงในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ของ SET Index อยู่ที่ -6.7%

สำหรับปัจจัยหลักภายนอก ได้แก่ การกลับมาเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ทั้งจากการที่ซาอุดีอาระเบียประกาศขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันและรัสเซียประกาศลดการส่งออกน้ำมันในช่วงต้นเดือน การที่นักลงทุนคาดหวังว่าอุปสงค์น้ำมันโลกในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นหลังทางการจีนประกาศเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการคาดหวังว่า FED จะหยุดวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งการที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นได้ผลักดันให้ราคาหุ้นกลุ่มธุรกิจน้ำมันปรับขึ้นตามด้วย ส่วนราคาหุ้นกลุ่มโรงกลั่นได้แรงหนุนจากส่วนต่างค่าการกลั่นในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คือ การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประกาศส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้แม้ว่าจะยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ความกังวลต่อนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ไม่เอื้อต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯก็เบาบางลง ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ามีการปรับตัวขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันจากนโยบายพรรคก้าวไกลมากที่สุด

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 21.2% จากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น DELTA ซึ่งรายงานกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2 ดีกว่าที่ตลาดคาดเอาไว้มาก กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง 7.5% และกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค 5.2% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -4.2% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -3.3% และกลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -3.3% สำหรับปริมาณการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุนในเดือนมิถุนายนนั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 1.3 หมื่นล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.4 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 0.3 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.6 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงครึ่งหลังปี 2566 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่การส่งออกก็มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าครึ่งปีแรก โดยเราได้เห็นสัญญาณบวกจากการที่การส่งออกพลิกกลับเติบโตในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม เรามีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นกับการท่องเที่ยวที่แม้ว่าจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดี แต่สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนยังช้าตามเศรษฐกิจประเทศจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ซึ่งที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนถือว่าเป็นกลุ่มที่มีอัตราใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ทำให้เมื่อสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนลดลง รายได้จากการท่องเที่ยวอาจจะต่ำกว่าในอดีตที่ผ่านมาแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวก็ตาม