ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – สิงหาคม 2566

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 6-3 ปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตรา 25Bps สู่ระดับ 5.25% ตามคาดการณ์ โดยนับเป็นการปรับขึ้นในอัตราที่ลดลงจากการประชุมครั้งก่อนที่มีมติปรับขึ้นในอัตราสูง 50Bps โดยในการประชุมรอบนี้มีคณะกรรมการ 2 ท่านที่มองว่าควรปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตราสูง และมีคณะกรรมการ 1 ท่านที่มองว่าควรคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม สะท้อนถึงแนวโน้มของดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้นและอาจเข้าใกล้จุดจบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในวัฏจักรนี้ ด้านเศรษฐกิจ BOE ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.5% (vs. 0.25% ประมาณการครั้งก่อนในเดือน พ.ค.) ขณะที่ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2024F ลงเป็น 0.5% (vs. 0.75% ประมาณการครั้งก่อน) และปี 2025F ลงเป็น 0.25% (vs. 0.75% ประมาณการครั้งก่อน) สะท้อนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เปราะบางมาก แม้คาดว่าจะหลีกเลี่ยง Recession ได้ก็ตาม ส่วนเงินเฟ้อ BOE คงคาดการณ์เงินเฟ้อ ณ สิ้นปีนี้ไว้ที่ 5.0% (vs. 7.9% เดือน มิ.ย.) ขณะที่ปรับเพิ่มคาดการณ์ปี 2024F ขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.5% (vs. 2.25% ประมาณการครั้งก่อน) และปี 2025F เป็น 1.5% (vs. 1.0% ประมาณการครั้งก่อน) ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% อย่างไรก็ดี BOE มองคาดการณ์ดังกล่าวมีความเสี่ยงโน้มไปทางด้านสูงทั้งจากค่าจ้างและราคาสินค้าในประเทศที่อาจคลี่คลายเข้าระดับปกติได้ช้ากว่าที่ประเมิน

FED เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 25-26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่ง FED ขึ้นดอกเบี้ย 25bps สู่ ระดับ 5.25-5.50% สูงสุดในรอบ 22 ปี หลังจากคงอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในเดือนมิถุนายน และลดขนาดงบดุลตามแผนต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการเห็นตรงกันว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวในระดับปานกลาง การจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงภาคธนาคารยังแข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่นสูง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ มองว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่สูงเกินรับได้ โดยส่วนใหญ่มองว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังมีอยู่สูง และเพื่อให้การประเมินจุดยืนของนโยบายการเงินอยู่ในจุดที่เหมาะสม คณะกรรมการยังคงมีความจำเป็นต้องติดตามข้อมูลเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยภาพรวมความเห็นบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในการประชุมครั้งหน้า (เดือนกันยายน) หากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวอีกครั้ง นอกจากนี้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมมีการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ ฯ ณ แจ็คสันโฮล ถ้อยแถลงของประธาน FOMC ได้ย้ำเตือนถึงความกังวลของ FED ต่อเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้เงินเฟ้อจะมีพัฒนาการที่ดี โดยชะลอลงมากจากจุดสูงสุดในรอบนี้ แต่ FED ยังเตรียมพร้อมต่อการขึ้นดอกเบี้ยอีกหากมีความจำเป็น
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25Bps เป็น 2.25% ตามคาด สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 เนื่องจาก ธปท. ส่งสัญญาณต้องการสร้าง Policy Space เพื่อรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และคาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นในระยะถัดไป ในขณะที่เงินเฟ้อชะลอลงและมีแนวโน้มทรงตัว แต่ยังคงมีความเสี่ยงด้านสูง ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก และคาดการณ์ว่าการส่งออกซึ่งหดตัวในระยะสั้น จะปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ธปท. มองว่าความเสี่ยงในระยะข้างหน้ายังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งการส่งออกที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด และการเมืองไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน ด้านเงินเฟ้อในปัจจุบันชะลอลงจากราคาพลังงานและฐานที่สูงในปีก่อนหน้าเป็นหลัก ทำให้ ธปท. คาดการณ์ว่าเมื่อปัจจัยชั่วคราวนี้ทยอยหมดลง เงินเฟ้อพื้นฐานไทยมีโอกาสจะทรงตัวสูงกว่าในอดีต โดยมีความเสี่ยงจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่อาจรุนแรงกว่าคาด

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นตลอดทุกช่วงอายุ โดย พันธบัตรรุ่นระยะสั้นปรับขึ้นตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ส่วนช่วงอายุ 5-20 ปีปรับขึ้น 10-20Bps ตามทิศทางตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ประธาน FED ได้ให้สัมภาษณ์ในเชิงว่าโอกาสขึ้นดอกเบี้ยยังคงมีอยู่และจะเห็นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3 หมื่นล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 6.6 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนสิงหาคม อยู่ที่ประมาณ 9.7 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.1 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ