SET Index ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปิดที่ระดับ 1,370.67 จุด เพิ่มขึ้น 0.45% จากเดือนก่อนหน้า ในช่วงต้นเดือนดัชนีมีการฟื้นตัว หลังจากปรับตัวลงต่อเนื่องในเดือนก่อนหน้า โดยทำจุดต่ำสุดวันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ที่ระดับ 1,357 จุด ก่อนจะฟื้นตัวในสัปดาห์แรกหลังจากนั้นก็แกว่งตัวในลักษณะ Sideway จนถึงสิ้นเดือน โดยมีกรอบการเคลื่อนไหวในช่วง 1,357-1,405 หรือ 48 จุด มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 44,922 ล้านบาท (-0.81% MoM)
ตลาดหุ้นไทยในเดือนกุมภาพันธ์ มีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยกดดันเข้ามาตลอดทั้งเดือน ทำให้ดัชนี SET ปรับตัวอยู่ในกรอบ โดยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันครั้งที่ 4 และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด ขณะที่เฟดก็ส่งสัญญาณว่ายังไม่มีแผนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งภายหลัง สหรัฐฯได้มีการรายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคมออกมาสูงกว่าที่คาด ทําให้นักลงลงทุนคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อยจนถึงเดือนมิถุนายน กดดันบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม อีกทั้งในประเทศ มีแรงกดดันจากตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ปี 2566 เติบโต 1.7% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.6% และปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.9% แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับตลาด เนื่องจากตัวเลขใกล้เคียงกับคาดการณ์ของกระทรวงการคลังที่ระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งนักลงทุนรับรู้ไปพอสมควรแล้ว ด้านนโยบายทางการเงินของไทยที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงกลับไม่ได้ส่งผลบวกต่อบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้น นักเศรษฐศาสตร์ไทยและต่างประเทศเริ่มทยอยปรับมุมมองต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทย มาเป็นคาดว่าจะลดดอกเบี้ยลง 1-3 ครั้ง หรือ 0.25-0.75% หลังการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ผลการประชุมมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ย โดยมีกรรมการ 2 เสียงเห็นว่าควรลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ส่งผลกดดันทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าและกดดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง
ด้านปัจจัยบวกในเดือนกุมภาพันธ์ นักลงทุนเริ่มเห็นโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยเริ่มดูดีขึ้น โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับความคาดหวังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะแถลงมาตรการการคุม “Short Selling และ Program Trading” ภาคเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง จากภาคการค้า ยอดส่งออกเดือน มกราคม +10.0% YoY ดีกว่าคาด +7.9% YoY และเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 4.7% YoY อีกทั้งกระแสผ่อนคลายนโยบายการเงินของจีน สนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้น China-linked รวมทั้งตลาดหุ้นไทย ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการจีนได้เร่งการประกาศมาตรการด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศลดเงินสำรองภาคธนาคาร การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงอายุ 5 ปี รวมทั้งการออกมาตรการลดแรงขายในตลาดหุ้นจีน เช่น การควบคุมการขาย Short รวมทั้งการห้ามนักลงทุนบางกลุ่มทำการยืมหุ้นเพื่อทำธุรกิจ SBL อีกด้วย ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ผนวกกับการที่มูลค่าหุ้น (valuation) ของตลาดหุ้นจีนปรับลดลงมามากแล้ว ได้กระตุ้นให้มีแรงซื้อกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกง และเป็นจิตวิทยาเชิงบวกให้กับภาพรวมตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นไทยด้วย
นักลงทุนต่างชาติพลิกมาซื้อสุทธิเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน ที่ 2.86 พันล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 3.09 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาพรวมกระแส Fund Flow เดือนนี้ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกสูงถึง 10.6 พันล้านเหรียญ โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากที่สุด คือ กลุ่มพาณิชย์ +8.2% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ +6.0% และกลุ่มธุรกิจการเกษตร +5.4% ในขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -10.2% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -3.0% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -2.7% ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน
สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงต้นของปี 2567 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภายในประเทศ โดยเราคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการออกมาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ เรามองว่ามาตรการฟรีวีซ่า จะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ดีขึ้น ทั้งนี้ การฟื้นตัวของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ ในปี 2567 และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯและไทย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้อย่างมั่นคง