ในรอบสัปดาห์นี้ ตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดมุมมองในเชิงบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการเติบโต ซึ่งส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้น ค่าเงิน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในหลายประเทศ กล่าวคือ กรรมการ FOMC หลายท่านออกมาให้ความเห็นในเชิงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย และประธานธนาคารกลางสหรัฐ เจเน็ต เยลเลน ออกมาย้ำว่าการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 14-15 มี.ค. นี้มีความเหมาะสม เหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสเป็นครั้งแรก โดยประกาศแผนงบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในการลงทุนโครงการสาธารณูปโภค แผนการปรับลดภาษีสำหรับชนชั้นกลางและปฏิรูประบบภาษีให้บริษัทสหรัฐสามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้มากขึ้น ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโต เช่น ยอดผู้เข้ารับรัฐสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ / ตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 1.9% แม้จะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ในรายละเอียดประกอบไปด้วยการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนจากภาคธุรกิจที่สูงขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้าง
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งเส้นได้สะท้อนมุมมองดังกล่าว ซึ่งมีส่วนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นตาม ประกอบกับมีการประมูลพันธบัตรรุ่นอายุประมาณ 5 ปีในช่วงกลางสัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีนักลงทุนถือครองมาก ทำให้มีแรงขายออกมาจากความกังวลถึงความเคลื่อนไหวในอัตราผลตอบแทนตามสหรัฐ โดยรวมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้น 0.01-0.08% โดยเฉพาะในช่วงกลางของเส้นอัตราผลตอบแทน และตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 8.3 พันล้านบาท และ 3.3 พันล้านบาท ตามลำดับ