ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (27 – 31 มีนาคม 2560 )

ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากตลาดมีมุมมองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อจากนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดี ทรัมป์ ลดลง หลังจากที่ไม่สามารถผลักดันร่างกฎหมายประกันสุขภาพแบบใหม่ให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้ นำไปสู่การคาดหวังว่าความถี่ของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED อาจจะลดลงด้วย อย่างไรก็ตามในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด ได้แก่ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ขยายตัว 2.1% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ที่ขยายตัวเพียง 1.9% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2% และจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า

ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปีซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งคณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ และมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2560 เป็นเติบโต 3.4% จากเดิม 3.2% ในขณะที่ปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาอยู่ที่ 1.2% จากเดิม 1.5%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงต่อเนื่อง 0.02-0.15% โดยเฉพาะรุ่นอายุ 3 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีกระแสเงินทุนจากต่างชาติเข้ามาซื้อ และตารางปริมาณเสนอขายพันธบัตรระยะยาวในไตรมาสหน้าที่ลดลง รวมถึง ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศตารางการเสนอขายพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนเมษายนที่มีจำนวนลดลง เนื่องจากต้องการสกัดเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาพักเงินระยะสั้น ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาว จำนวน 5.98 และ 11.29 พันล้านบาท

Thai-Fixed-Income-Market-27-31-Mar-2017