ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2561

ในเดือนมีนาคม SET Index ปรับตัวลง (-2.94% MoM) จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงตามการปรับฐานของดัชนีหุ้นทั่วโลก จากความกังวลต่อการเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และปัจจัยภายในประเทศ

โดยภาพรวมตลาดในเดือนมีนาคมมีการแกว่งตัว Sideway ในช่วงต้นเดือน หลังจากที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed funds rate) ขึ้น 25 bps ไปอยู่ที่ช่วง 1.50 – 1.75% และคงมุมมองที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด ทำให้ตลาดหุ้นและตลาดการเงินไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก แต่ในช่วงปลายเดือน ประธานาธิบดี Donald Trump ได้ลงนามเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เพื่อกดดันจีนที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ขณะที่จีนก็ออกมาตอบโต้ด้วยการจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเนื้อหมู ท่อเหล็ก ผลไม้ และไวน์ จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของสงครามการค้าอย่างแท้จริง ทำให้เกิดความกังวลต่อความเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -5.9% ภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากข่าวกีดกันทางการค้านี้ไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากยังไม่มีการระบุตัวสินค้าชัดเจน

ปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อ SET Index ได้แก่ การประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมธนาคารทางอินเตอร์เน็ตของหลายธนาคารขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น ทำให้เกิดความกังวลต่อผลประกอบการของกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารทหารไทย ที่อาจเกิดผลกระทบเชิงลบมากที่สุด เนื่องจากเดิมเป็นธนาคารเดียวที่ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมจากลูกค้า ทำให้หุ้นในกลุ่มธนาคารปรับตัวลดลง / การหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนไฟฟ้า จึงสมควรหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นโครงการใหม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อกำไรของหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน / ข่าวเรื่องคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อาจจะพิจารณาปรับสูตรคำนวณราคาค่าการกลั่น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อกำไรของหุ้นกลุ่มโรงกลั่น รวมไปถึงการประกาศจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ทำให้ SET Index ปรับตัวลดลงตามไปด้วย

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2561 SET Index ปิดที่ 1,776.26 จุด ปรับตัวลดลง -2.94% จากเดือนก่อนหน้า โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มการแพทย์ +3.1% กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ +3.0% และกลุ่มพาณิชย์ +0.8% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มธนาคาร -7.1% กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค -6.2% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -5.4% ในเดือนมีนาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิมากที่สุดมูลค่า 11,219 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 9,484 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสคาดว่าตลาดหุ้นจะยังอยู่ในช่วงปรับฐานในช่วงสั้น แต่ในครึ่งหลังของปี 2561 ตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตดีขึ้น ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยก็ยังมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น สภาพคล่องในระบบการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นทั้งสิ้น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงหลักยังคงอยู่ที่ปัจจัยระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด