ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (ตุลาคม 2562)

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายการเงินเดิมตามการคาดการณ์ส่วนใหญ่ของตลาด หลังจากที่ในการประชุมรอบก่อน (12 ก.ย.) ECB ได้ลดดอกเบี้ย Deposit facility rate ลง 10bps และประกาศกลับมาทำ QE ที่อัตรา EUR20bn ต่อเดือน ซึ่งจะเริ่มในเดือน พ.ย. เพื่อหนุนสภาพคล่องในระบบโดยนาย Mario Draghi ประธาน ECB ระบุว่าดัชนี PMI ได้สะท้อนถึงภาคการบริการที่อ่อนแอลงมาก ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากภาคการผลิตที่อ่อนแอเริ่มส่งผลกระทบ นอกจากนี้ นาย Draghi ได้กล่าวถึงเครื่องมือทางการเงิน โดยระบุว่านโยบายดอกเบี้ยติดลบยังคงส่งผลดีต่อภาคธนาคาร ขณะที่ยอมรับว่าผลเสียได้ตกถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญและบริษัทประกัน ส่วนมาตรการ QE นาย Draghi ระบุว่า ECB ยังคงเข้าซื้อสินทรัพย์ได้อีกเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะติดข้อจำกัดตามกฎหมาย โดยเฉพาะการห้าม ECB ถือครองพันธบัตรของแต่ละประเทศสมาชิกเกิน 33% ของปริมาณพันธบัตรที่มีทั้งหมดในตลาด (33% issuer limit)

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติ 8-2 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25bps เป็น 1.50%-1.75% ตามที่ตลาดคาด นับเป็นการปรับดอกเบี้ยลงเป็นครั้งที่ 3 รวม 75bps ท่ามกลางความเสี่ยงจากพัฒนาการเศรษฐกิจโลกและแรงกดดันเงินเฟ้อที่อ่อนแอ ในแถลงการณ์การประชุมรอบนี้ FED ได้นำประโยคที่ว่า “จะปรับเปลี่ยนนโยบายให้มีความเหมาะสมเพื่อหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อ” ออกจากแถลงการณ์หลังการประชุม ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า FED จะหยุดการลดดอกเบี้ยลงในช่วงนี้ โดยประโยคดังกล่าวได้มีขึ้นในแถลงการณ์หลังการประชุมนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. และ FED ก็ได้ลดดอกเบี้ยลงในการประชุมทุกรอบหลังจากนั้น (เดือน ก.ค., ก.ย. และ ต.ค.) นาย Jerome Powell ประธาน FED กล่าวหลังการประชุมว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ เช่น สงครามการค้าและ Brexit ยังคงมีอยู่แต่มีความผ่อนคลายลง และคณะกรรมการมองว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสมหากตัวเลขเศรษฐกิจเป็นไปตามที่ได้ประเมินไว้ ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย นาย Powell ระบุว่าคณะกรรมการจะต้องเห็นเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอย่างยั่งยืนก่อนที่จะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย

กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนตุลาคม 2019 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.11%yoy ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2017 โดยลดลงจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.32%yoy และต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 0.30%yoy หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ -0.16%mom ขณะที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ +0.06%mom ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารสดและราคาพลังงาน) ทรงตัวจากเดือนก่อนที่ระดับ 0.44%yoy ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ว่าอยู่ในภาวะชะลอตัว การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชัดเจนขึ้น โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกหมวด การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัว มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้

ทางด้านภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลขยับขึ้นเล็กน้อย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นเพิ่มขึ้น 3-5 Bps ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้น 4-7 Bps ทางด้านปริมาณการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติ ได้ขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 5.9 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.3 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุแล้ว คงเหลือการถือครอง 9.18 แสนล้านบาท หรือลดลงประมาณ 3.7 พันล้านบาท จากสิ้นปีที่ผ่านมา

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

image1