ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -0.8% สู่ระดับ 1,328.53 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศ ปัญหาความตึงเครียดทางการฑูตระหว่างสหรัฐฯ-จีน และการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการไตรมาสที่ 2.

การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐฯ บราซิล และอินเดีย ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก โดยในสหรัฐฯพบผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 6-7 หมื่นราย เช่นเดียวกับประเทศบราซิลและอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น นอกจากนี้ ยังมีความกังวลของการแพร่ระบาดรอบที่ 2 ในประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง ที่อาจนำไปสู่การ Lockdown ครั้งใหม่ ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยปัจจัยหลักที่จะบ่งชี้ความเร่งในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ คือความคืบหน้าของยารักษาโรคและวัคซีนต้านโรค Covid-19 โดยในเดือนกรกฎาคม มีพัฒนาการของยารักษาโรคและวัคซีนดังนี้ 1) ยา Remdesivir ซึ่งเป็นยารักษาโรค Covid-19 ของบริษัท Gilead Sciences Inc สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 62% เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน 2) วัคซีนที่ทดลองโดยบริษัท Pfizer ของสหรัฐ และบริษัท BioNTech ของเยอรมนี ได้รับสถานะ Fast Track จากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ซึ่งจะทำให้การพัฒนาวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น จากการผ่อนคลายกฏระเบียบของ FDA 3) ผลการทดลองเฟส 1 ของวัคซีน mRNA-1273 ของบริษัท Moderna สามารถตอบสนองด้านภูมิคุ้มกันได้ดี และอาจป้องกันโรค Covid-19 ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันกำลังทดลองเฟส 2 และเริ่มการทดลองเฟส 3 ควบคู่ไปด้วย 4) วัคซีน AZD1222 ที่พัฒนาโดยบริษัท Astrazeneca และมหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งการทดลองอยู่ในเฟส 2/3 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพิ่มโอกาสที่วัคซีนจะถูกผลิตออกมาในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังสหรัฐฯจำกัดการออกวีซ่าให้กับพนักงานบริษัทในกลุ่ม Technology ของจีน รวมถึงสั่งปิดสถานกงสุลจีนในเมือง Houston โดยกล่าวอ้างว่าจีนจารกรรมข้อมูลลับของสหรัฐฯ ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการสั่งปิดสถานกงสุลสหรัฐฯในเมืองเฉิงตู ซึ่งข้อพิพาทต่าง ๆ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะนำไปสู่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจในที่สุด ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยที่ตลาดรอความชัดเจน คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ หลังมาตรการช่วยเหลือคนว่างงานจะสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ซึ่งพรรค Republican และ Democrat ยังคงเห็นต่างในหลายประเด็น

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ แม้ประเทศไทยจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี จนในประเทศปลอดเชื้อมากว่า 60 วัน แต่เนื่องจากไทยพึ่งพิงภายนอกในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก และในปัจจุบัน สถานการณ์ภายนอกยังไม่สู้ดีนัก ซึ่งกระทบต่อ External Demand อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อัตราการส่งออกไทยเดือนมิถุนายนหดตัวถึง -24.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัว -18.4% น้อยลงมากเมื่อเทียบกับ 29.0% ในเดือนพฤษภาคม ตามการส่งออกที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นจากการทยอยเปิดเมืองของประเทศคู่ค้า แต่การหดตัวของการส่งออกสินค้ายังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากรายได้ของประเทศคู่ค้ายังคงอ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงมาจากระดับ 1,450 มาอยู่บริเวณ 1,330 ในปัจจุบัน ทำให้ระดับ Valuation เริ่มกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง อีกทั้งยังมีปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต และการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า น่าจะมีการเริ่มผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศ ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,328.53 จุด ปรับตัวลดลง 10.50 จุด หรือประมาณ -0.8% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +68.3% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +3.3% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม +3.2% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -11.3% กลุ่มธนาคาร -7.8% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -7.6% ในเดือนกรกฎาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 10,178 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 4,690 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 14,375 และ 492 ล้านบาทตามลำดับ